ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 36 : การจัดโครงสร้างดูแลผู้ป่วย

การปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย สามารถแบ่งเป็น 2 วิธี กล่าวคือ วิธีแรกเน้นเรื่องงานเชี่ยวชาญเฉพาะ (Specialized work) อาทิ การพยาบาลรังสีรักษา (Radiation therapy) หรือบริการสภาพแวดล้อม ในระบบนี้ นักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) ขึ้นโดยตรงต่อหัวหน้าในสาขาวิชาชีพของตน อาทิ นักบำบัดทางเดินหายใจ (Respiratory therapist) จะรายงานโดยตรงต่อผู้จัดการบำบัดทางเดินหายใจ

องค์กรรูปแบบนี้เพิ่มสัมพันธภาพภายในวิชาชีพเฉพาะ และประหยัดต้นทุน ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการเติบโตทางวิชาชีพ แต่ก็ไม่ส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานกับหน่วยงานวิชาชีพเฉพาะอื่นๆ จึงอาจทำให้การดูแลผู้ป่วยขาดเอกภาพ (Fragment) [เพราะต่างคนต่างทำงาน]

ส่วนวิธีที่สองเน้นเรื่องผลลัพธ์โปรแกรม (Program Output) โดยการแบ่งงานไปตามการบริการเฉพาะ หรือกระบวนการโรค อาทิ โรคเบาหวาน สุขภาพสตรี หรือ บริการผู้สูงอายุ วิธีการสหวิชาชีพ (Multidiscipline) นี้เป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการ (Integration)

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับบริการจากหลายๆ โปรแกรม อาจเป็นปัญหาในการกำกับระบบ โดยเฉพาะการเพิ่มภาระในการจรรโลงมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ ตลอดจนความซ้ำซ้อนของบริการในแต่ละหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การขาดประสิทธิภาพในภาพรวม

ประมาณ 40 – 50% ของพนักงานทั้งหมดของโรงพยาบาล จะอยู่ในฝ่ายการพยาบาล ซึ่งมักจะสะท้อนโครงสร้างองค์กรของโรงพยาบาลด้วย รูปแบบของโครงสร้างนี้อาจได้รับอิทธิพลบางส่วนจากขนาดและความซับซ้อนของโรงพยาบาล ตำแหน่งการตัดสินใจและอำนาจสั่งการ ได้รับการออกแบบเป็นชั้นๆ (Layer) ระหว่างผู้ปฏิบัติการกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล

หากมีจำนวนชั้นมาก เป็นการจัดองค์กรใน “แนวดิ่ง” (Vertical) ซึ่งมีสายบังคับบัญชาในลักษณะรวมอำนาจและการตัดสินใจสู่ส่วนกลาง (Centralization) ที่อยู่เบื้องบน แต่ถ้ามีจำนวนชั้นน้อย เป็นการจัดองค์กรใน “แนวราบ” (Horizon) ซึ่งมีสายบังคับบัญชาในลักษณะกระจายอำนาจและการตัดสินใจ (Decentralization) ไปตามหน่วยงานดูแลผู้ป่วย (Patient-care unit : PCU) แต่ละโครงสร้างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

ทุกวันนี้ โรงพยาบาลส่วนมากกำลังเปลี่ยนแปลงจากโครงสร้าง “แนวดิ่ง” พร้อมด้วยช่องทางการสื่อสารที่เป็นทางการ ไปยังโครงสร้าง “แนวราบ” พร้อมด้วยการร่วมมือทำงานเป็นหมู่คณะ ในขณะเดียวกันก็เปลี่ยนการมุ่งเน้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ไปยังการให้บริการที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient center) ท่ามกลางการขาดแคลนนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ การที่ต้องดูแลความเจ็บป่วยเรื้อรังมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น รวมทั้งเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)