ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 96 : แผนกบริการสภาพแวดล้อม

ในอดีตแผนกนี้มีชื่อเรียกว่า “แผนกแม่บ้าน” (House-keeping) ขึ้นโดยตรงต่อฝ่ายการพยาบาล เมื่อพยาบาลได้รับฝึกอบรมด้านการแพทย์มากขึ้นและทำหน้าที่พยาบาลมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องแยกความรับผิดชอบออกมา โดยหน่วยงานใหม่มีหน้าที่หลัก 2 ประการ กล่าวคือรักษาความสะอาดภายในโรงพยาบาล และควบคุมงานผ้า (Linen supply)

การรักษาความสะอาดภายในโรงพยาบาล ท้าทายความสามารถไม่น้อย ส่วนหนึ่งของปัญหาคือการที่โรงพยาบาลเป็นสถานที่เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ของทุกๆ วัน และตลอดปี โดยไม่มีวันหยุดทำการ มีการใช้สอยพื้นที่ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ เพื่อป้องกันภาพลักษณ์ทั่วทั้งโรงพยาบาลที่อาจเป็นลบ และควบคุมการติดเชื้อ (Infection)

การทำความสะอาดอยู่ในความรับผิดชอบของงานแม่บ้าน ที่ต้องให้แน่ใจว่า แต่ละห้องผู้ป่วยและพื้นต้องสะอาดอยู่เสมอ ในสายตาของผู้ป่วย ผู้เยี่ยมไข้ และบุคลากรทางการแพทย์ เพราะประโยชน์ที่ได้รับคือการสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นบวก เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ได้ประสิทธิผล และข้อสำคัญคือลดโอกาสของการติดเชื้อ

แผนกบริการสภาพแวดล้อม (Environmental services) ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ (Labor intensive) พร้อมด้วยอุปกรณ์ทันสมัย แต่การทำความสะอาดห้องผู้ป่วย ระเบียงทางเดิน สำนักงาน ห้องโถง ฯลฯ ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย (Sanitation) และการบริหารจัดการคนในลักษณะการบังคับบัญชาตามลำดับขั้น (Hierarchy) ซึ่งต้องอาศัยภาวะผู้นำที่ปกครองคนได้ดี

การแบ่งงานมักแยกเป็นการทำความสะอาดชนิดเบา อาทิ ปัดฝุ่น และถูพื้น หรือชนิดหนัก อาทิ เคลื่อนย้ายเฟอร์นิเจอร์ นับเป็นบุคลากรด่านหน้า (Front line) ของการบริการสภาพแวดล้อมที่อาจประจำอยู่ในหน่วยงานพยาบาล ตามกะ ทั้งวันธรรมดา และสุดสัปดาห์ แต่ผลงานความสะอาดมีผลกระทบสูงต่อผู้ป่วยในเชิงจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์

วิธีการ ทัศนคติ และบุคลิกภาพของบุคลากรกลุ่มนี้ ต่อสุขอนามัย จะสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากต้องทำความสะอาดในห้องผู้ป่วยทุกๆ วัน การเป็นคนยิ้มแย้มแจ่มใส ร่าเริง และสุภาพ จะสร้างความประทับใจให้ผู้ป่วย และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อโรงพยาบาล

ในปัจจุบัน งานแม่บ้านเอื้ออำนวยต่อการว่าจ้างจากภายนอก (Outsource) แต่จะเป็นบุคลากรของโรงพยาบาล (In-house) หรือสัญญาบริการ (Contract service) จากภายนอก ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ คุณภาพของการบริการ จำนวนพนักงานที่มีอยู่แล้วในโรงพยาบาล ความรู้ความชำนาญการใช้อุปกรณ์ทันสมัย ค่าใช้จ่าย และประเด็นทางกฎหมายแรงงาน

สัญญาว่าจ้างจากภายนอก อาจเหมารวมทุกอย่างของปฏิบัติการ (Turnkey) โดยผู้รับจ้างนำอุปกรณ์ทันสมัยมาเอง หรืออาจว่าจ้างเพียงหัวหน้าที่มีทักษะและประสบการณ์อย่างมืออาชีพ มาฝึกสอนปรับปรุงวิธีทำงาน (Work method) ให้ดีขึ้น โดยที่โรงพยาบาลต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ทันสมัยเอง

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)