ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 82 : บทบาทหลักของนักสังคมสงเคราะห์

ในสหรัฐอเมริกา หน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ (Medical social worker) มีหลากหลายขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล โดยทั่วไป อาจทำหน้าที่เป็นผู้จัดการตามแต่กรณี (Case manager) ผู้สนับสนุน (Advocate) หรือผู้สันทัดทางคลินิก (Clinician) ซึ่งแต่ละประเภท ปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้

ผู้จัดการกรณี

  • ประเมินและค้นหาความต้องการของผู้ป่วย และบริการ (รวมทั้งทรัพยากร) ที่มีอยู่เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว แล้วตัดสินใจว่าผู้ป่วยมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือ และใช้บริการหรืออุปกรณ์อื่นๆ
  • ทำงานกับผู้ป่วยและครอบครัว แพทย์ และ ทีมงานสหวิชาชีพ (Interdisciplinary) เพื่อนำพาผู้ป่วยผ่านกระบวนการต่างๆ ของการรักษา บทบาทนี้รวมทั้งเมื่อผู้ป่วยได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (Discharge) วางแผนการเปลี่ยนผ่าน (Transitional planning) และการใช้บริการต่างๆ ตลอดจนช่วยผู้ป่วยให้เข้าถึงบริการดังกล่าว

ผู้สนับสนุน

  • สนับสนุนผู้ป่วย ในแต่ละระดับของการช่วยเหลือตัวเอง ให้ได้รับการรักษาเหมาะสมด้วยศักดิ์ศรี (Dignity and respect) เพื่อให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพ ในระดับที่ช่วยตัวเองได้ให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
  • ค้นหาช่องว่างระหว่างบริการกับทรัพยากรที่มีอยู่ ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรของโรงพยาบาลและชุมชน หรือโครงการต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย

ผู้สันทัดทางคลินิก

  • ค้นหาจุดประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านชีวจิตสังคม (Biopsychosocial) วัฒนธรรม การเงิน และสถานการณ์ ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation) หรือการเข้าถึงบริการ
  • ประเมินประเด็นสำหรับเด็กหรือผู้สูงวัยที่ถูกทำร้าย (Abuse) หรือถูกละเลย พร้อมทั้งรายงานต่อผู้เกี่ยวข้อง
  • ให้คำแนะนำ หรือช่วยผู้ป่วย และครอบครัว ในการปรับตัวต่อความสูญเสีย ผลจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการรักษา (Intervention) ที่ได้รับ
  • ประเมินและรักษาสุขภาพจิตและสถานะของอารมณ์ผู้ป่วย พร้อมทั้งประเมินความจำเป็นที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเฉพาะโรค (Specialized hospitalization)
  • ค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการฆ่าตัวตาย (Suicidal symptomology) ประเด็นการเสพยา (Substance abuse) และความจำเป็นสำหรับบริการผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก

ในปัจจุบัน ผู้ป่วยและครอบครัว มักเข้าใจการดูแลสุขภาพผ่านการใช้อินเทอร์เน็ตและสื่ออื่นๆ สมาชิกของทีมงานรักษา จึงต้องเตรียมความพร้อมในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้มั่นใจว่า จะสามารถให้การรักษาในมิติขององค์รวม (Holistic)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)