ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 80 : ปฎิบัติการเชิงซ้อนของนักแก้ไขการพูดและภาษา

บางครั้งการประเมินการกลืนข้างเตียงผู้ป่วย อาจเปิดเผยให้เห็นความจำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ในเชิงลึกเกี่ยวกับกลไกลการกลืนของผู้ป่วย การใช้วิธีการกลืนสารแบเรียม (Barium) หรือการส่องกล้อง (Endoscope) อาจไม่เพียงพอ รังสีแพทย์ อาจช่วยวินิจฉัยโดยใช้เครื่องมือวีดิทัศน์ตรวจอวัยวะภายในบนจอเรืองแสง (Video-fluoroscopy)

เครื่องดังกล่าว สอดผ่านทางจมูกของผู้ป่วย โดยที่ปลายท่อเป็นวีดิทัศน์ จะช่วยให้สังเกตเห็นการเคลื่อนไหว (Motion) และบริเวณคอหอยและช่องทางหายใจ (Airway) ซึ่งไม่สามารถมองเห็นจากการกลืนแบเรียมหรือส่องกล้อง นักแก้ไขการพูดและภาษา (Speech-language pathologist : SLP) ต้องได้รับการฝึกฝนอบรมพิเศษก่อนปฏิบัติงานดังกล่าว

ไม่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการประเมินการกลืน จุดประสงค์คือความปลอดภัยของผู้ป่วยและการแนะนำโภชนาการที่เหมาะสมให้ผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังต้องสอนวิธีการป้อนอาหารและการดื่มของเหลว การคำนึงถึงข้อควรระวังในการกลืน การฝึกสอนผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ และการเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

เป็นหน้าที่ของนักแก้ไขการพูดและภาษาที่ต้องให้การศึกษาแก่ผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องในเรื่องความเสี่ยงในการกินหรือดื่มบางอย่างที่เข้าช่องทางหายใจหรือปอด เพราะเป็นการยากสำหรับผู้ป่วยบางคนที่ต้องรักษาความสมดุลระหว่างการป้องกันการสำลัก กับการส่งผลให้เกิดอาการปอดบวมจากการสำลักอาหารเข้าไปในปอด (Aspiration-related pneumonia) ในขณะที่รักษาให้มีคุณค่าโภชนาการและการได้น้ำเพียงพอ (Hydration)

ผู้ป่วยมักได้รับการส่งต่อมายังแพทย์สาขาต่างๆ ซึ่งอาจเป็นแพทย์หูคอจมูก (Otolaryngologist) แพทย์ประสาทวิทยา (Neurologist) แพทย์ทางเดินอาหาร (Gastroenterologist) นักกำหนดอาหาร (Dietician) หรือนักบำบัดอาชีวะ (Occupational therapist)

ถ้าผู้ป่วยต้องการนักแก้ไขการพูดและภาษา จุดประสงค์และความถี่ในการบำบัด จะกำหนดขึ้นบนพื้นฐานของการประเมิน โดยปรกติผู้ป่วยจะได้รับการบำบัดทุกๆ วัน ในการดูแลเฉียบพลัน (Acute care) จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ออกจากสถานพยาบาล (Discharge) เพื่อไปบำบัดต่อที่บ้านหรือสถานพักฟื้นระยะยาว หรือไม่ก็กลายสภาพเป็นผู้ป่วยนอก

นักแก้ไขการพูดและภาษา มุ่งปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในการบำบัดความลำบากในการพูด คิด และกลืน ซึ่งมักเป็นอุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ การสนทนากับสมาชิกในครอบครัว และการดื่มกาแฟร้อนสักถ้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะทำให้ชีวิตน่ารื่นรมย์ แต่ต้องกลายมาเป็นความทุกข์ทรมาณหากมีความผิดปรกติในการสื่อสารและการกลืน

การค้นหาสาเหตุและการบำบัดความผิดปรกติเหล่านี้ของนักแก้ไขการพูดและภาษา โดยทำงานร่วมกับผู้ป่วยและนักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อื่นๆ ในทีมงาน จะช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นักปฏิบัติการ (Practitioner) ในวิชาชีพนี้เริ่มมีการพัฒนาถึงระดับปริญญาเอก ตามโรงเรียนแพทย์ในประเทศไทย หลังจากที่เป็นแนวทางปฏิบัติในสหรัฐอเมริกามานานแล้ว

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)