ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 76 : นักแก้ไขการพูดและภาษา

หน้าที่สำคัญของนักแก้ไขการพูดและภาษา (Speech-language pathologist : SLP) ในโรงพยาบาล คือการวินิจฉัยและบำบัดผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติในการสื่อสาร หรือในการกลืน (Swallowing disorder) ด้วยมาตรฐานสูง อาศัยปฏิบัติการที่เป็นเลิศ (Best practices) ในการประเมินและวิธีการบำบัดด้วยประจักษ์หลักฐาน (Evidence-based)

ความผิดปรกติในการสื่อสารนั้น เป็นความบกพร่องของสมรรถภาพในการรับ ส่ง จัดการหรือเข้าใจข้อความทางวาจา (Verbal) อวัจนา (Non-verbal) หรือภาพ (Graphic) ส่วนความผิดปรกติในการกลืนนั้น เป็นความหย่อนสมรรถภาพในการดูด เคี้ยว หรือ เคลื่อนย้ายอาหารและของเหลว จากปากไปยังกระเพาะอาหาร

นักแก้ไขการพูดและภาษา สร้างความมั่นใจว่า ความต้องการของผู้ป่วยได้รับการตอบสนอง และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดในการฟื้นฟูสมรรถภาพ นักวิชาชีพดูแลสุขภาพ (Healthcare professionals) อื่นๆ ต้องเข้าใจถึงหน้าที่นี้ของนักแก้ไขการพูดและภาษา มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจไม่ได้รับบริการที่เหมาะสม

นักแก้ไขการพูดและภาษา ต้องได้รับการศึกษา และมีประสบการณ์พอสมควร นักเรียนมัธยมปลายที่สนใจวิชาชีพนี้จะต้องผ่านหลักสูตรขั้นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา และฟิสิกส์) สังคมศาสตร์ ภาษา และคณิตศาสตร์ ในระดับปริญญาตรี แล้วยังต้องศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์การสื่อสารและความผิดปรกติ ซึ่งรวมทั้งกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา ภาษาศาสตร์ การออกเสียง (Phonetics) และจิตวิทยา

ในสหรัฐอเมริกา ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ต้องผ่านการทดสอบในเรื่องความรู้และทักษะความชำนาญ ของสภารับรองคุณภาพการได้ยินและการพูด-ภาษา (Council on Academic Accreditation in Audiology and Speech-Language Pathology) จึงจะได้รับประกาศนียบัตรความสามารถทางคลินิก (Clinical Competence) ไปประกอบวิชาชีพ

การต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนี้ ต้องกระทำทุก 3 ปี ซึ่งกำหนดให้มีการพัฒนาวิชาชีพ [ฝึกอบรม] เพิ่มเติมอย่างน้อย 30 ชั่วโมง และปฏิบัติตามจรรยาบรรณ (Code of Ethics) นักวิชาชีพแก้ไขการพูด-ภาษาและการได้ยิน ของสมาคมการพูด-ภาษา-การได้ยิน แห่งอเมริกา (American Speech-Language-Hearing Association : ASHA)

นักแก้ไขการพูดและภาษา มีหน้าที่ประเมินและบำบัดความผิดปรกติของผู้ป่วยเกี่ยวกับการสื่อสาร อันได้แก่ การพูด เสียง (Voice) การกลืน อุปสรรคการเข้าใจและใช้ภาษา (Aphasia) และการรับรู้ที่หย่อนสมรรถภาพ (Cognitive impairment)

ช่วงอายุผู้ป่วยมีตั้งแต่ทารกแรกเกิด (ปัญหาเรื่องการกลืน) เด็กๆ (ปัญหาปากแหว่งเพดานโหว่ [Cleft-palate]) และผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุ (ปัญหาโรคหลอดเลือดสมอง [Stroke] บาดเจ็บที่สมอง [Brain injury] หรือเนื้องอกในสมอง [Brain tumor])

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)