ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 74 : กระบวนการทำงานฝ่ายบำบัดทางเดินหายใจ

เช่นเดียวกับฝ่ายอื่นๆ ในโรงพยาบาล กระบวนการทำงานตั้งแต่การรับผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล (Admission) จนกระทั่งออกจากโรงพยาบาล (Discharge) ประเภทของผู้ป่วย และฤดูกาล จะเป็นปัจจัยกำหนดระดับกิจกรรมของภาระงาน (Workload) อาทิ ในหน้าหนาว จะมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคทางเดินหายใจ โดยเฉพาะไข้หวัด

เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้จำนวนมากต้องได้รับการฆ่าเชื้อ (Sterilized) ประกอบใหม่ (Re-assembled) ทำการหีบห่อ (Packaged) สำหรับการเก็บสำรอง (Storage) จึงมีการว่าจ้าง ช่างอุปกรณ์ (Equipment technician) เข้ามาดูแลการทำความสะอาดและบำรุงรักษาตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

เนื่องจากผู้อยู่ในตำแหน่งนี้ ไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับผู้ป่วย จึงไม่ต้องมีคุณสมบัติที่ต้องขึ้นทะเบียน เพื่อรับใบอนุญาต แต่ต้องให้ความร่วมมือในการทำงานกับฝ่ายวิศวกรรมทางการแพทย์ (Biomedical engineering) ในโรงพยาบาล ช่างผู้นี้จึงต้องให้ความมั่นใจว่า อุปกรณ์ดังกล่าว สามารถทำงานได้ตามหน้าที่อย่างเหมาะสม และสนองตอบความต้องการของโรงพยาบาลในเรื่องการประกันคุณภาพ

สำหรับผู้ป่วยนอก แพทย์มักสั่งให้ตรวจการทำงานของปอด (Pulmonary function) ก๊าซในหลอดเลือดแดง (Arterial blood gas) การทดสอบความแข็งแรงของร่างกาย (Stress test) การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy) ฯลฯ ผลลัพธ์จากการทดสอบหรือตรวจวิเคราะห์ จะถูกส่งกลับไปยังแพทย์ผู้สั่ง เพื่อการอ่านแปลผล (Interpretation) สื่อสารกับผู้ป่วย และติดตามผล (Monitor)

การทดสอบหรือตรวจวิเคราะห์ สำหรับผู้ป่วยใน ขึ้นอยู่กับประเภทที่แพทย์สั่ง สภาวะผู้ป่วยในปัจจุบัน และความปลอดภัยของผู้ป่วย ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การทดสอบหรือตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว สามารถกระทำได้ ณ จุดดูแล (Point-of-care test : POCT) อาทิ ข้างเตียงผู้ป่วย และการประมวลผลชนิดรวดเร็ว (STAT test)

หน้าที่หลักของนักบำบัดทางเดินหายใจมักเป็นเรื่องของการให้บริการบำบัดรักษา (Therapeutic treatment) เครื่องมือ (Modality) วิธีการติดตามผล และการปฏิบัติงานต่างๆ อาทิ ในห้องคลอด (Delivery) ห้องฟื้นฟูหลังการผ่าตัด (Post-operative recovery) ห้องสวนหัวใจ (Cardiac catheterization) ห้องปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant) ห้องฟื้นฟูปอด (Pulmonary rehabilitation) ห้องแผลไหม้ (Burn) และห้องการนอนหลับ (Polysomnography)

เช่นเดียวกับพยาบาล นักบำบัดทางเดินหายใจ รับคำสั่งจากแพทย์โดยตรง แล้วทำหน้าที่สำคัญในการสื่อสารสถานะของผู้ป่วย และเสนอทางเลือกให้แพทย์ในการบำบัดรักษา บทบาทการสนับสนุนแพทย์ในการประเมินผู้ป่วย ผ่านการทดสอบหรือตรวจวิเคราะห์ และการติดตามผล สามารถช่วยลดจำนวนวันที่ผู้ป่วยต้องนอนพักในหน่วยงานวิกฤต (Intensive unit) ได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)