ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 66 : ฝ่ายกายภาพบำบัด

ฝ่ายกายภาพบำบัด (Physical therapy or physiotherapy : PT) มีหน้าที่วินิจฉัยและบริหารการเคลื่อนไหวที่มีสมรรถนะผิดปรกติ (Dysfunction) และเพิ่มพูนความสามารถทางกายภาพ และยังฟื้นฟู บำรุง และส่งเสริมสมรรถนะทางกาย ความสุขสบาย และคุณภาพของชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว และสุขภาพ นอกจากนี้ยังป้องกันการเกิด (Onset) กลุ่มอาการ และวิวัฒนาการของการเสื่อม (Impairment) ข้อจำกัดของสมรรถนะ และความพิการ (Disability) ที่ป็นผลมาจากโรคภัยไข้เจ็บ

นักกายภาพบำบัด คือผู้เชี่ยวชาญในการฟื้นฟูและปรับปรุงความสามารถในการเคลื่อนไหว (Mobility) ในชีวิตประจำวันของผู้ป่วย มีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยในสถานพยาบาล ซึ่งเกิดอุบัติการณ์ (Incident) ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย อาทิ การผ่าตัดข้อต่อกระดูก (Joint replacement) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรือการตัดอวัยวะออก(Amputation)

นักกายภาพบำบัด มีทักษะความชำนาญในการประเมินสมรรถนะของผู้ป่วย อาทิ ความช่วยเหลือที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยในการเคลื่อนย้าย (Ambulation) และการขึ้นลงเตียง (Bed mobility) ตลอดจนข้อควรระวังทางการแพทย์อื่นๆ อาทิ พยาธิภาวะร่วม (Co-morbidity) การพึ่งพาตนเอง และสรีสระสำรอง (Physiologic reserve) ซึ่งเป็นความสมบูรณ์ของร่างกาย ที่มีส่วนเกินจากความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน

ในศัลยกรรมกระดูก (Orthopedic surgery) แพทย์จะสั่งให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักส่วนที่ทับแขนขาซึ่งได้รับการผ่าตัด (Partial weightbearing) หรือไม่ให้มีน้ำหนักทับเลย (Non-weightbearing) ส่วนการผ่าตัดหัวใจซึ่งต้องผ่ากระดูกหน้าอก (Sternotomy) แพทย์อาจให้จำกัดกิจกรรมส่วนบนของร่างกาย ระหว่างที่กระดูกหน้าอกค่อยๆ ฟื้นฟู

ผู้ป่วยที่มีสายระโยงระยาง อาทิ ส่วนที่สอดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous) หรือท่อ อาทิ สายสวนทางเดินปัสสาวะ (Urinary catheter) จะต้องได้รับการจัดการที่เหมาะสม ในขณะที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหวได้ และผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาล มักมีพยาธิสภาวะอื่นๆร่วม ซึ่งต้องได้รับการพิจารณาในการดูแลให้ผู้ป่วยฟื้นฟู

ผู้ป่วยเหล่านี้ มีจำนวนมากที่เป็นโรคเรื้องรัง อาทิ เบาหวาน (Diabetes) ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ต้องได้รับการดูแลระยะยาว นักกายภาพบำบัดที่ทำงานในสถานพยาบาลซึ่งมีผู้ป่วยร้ายแรง มักได้รับการปรึกษาหารือในฐานะผู้เชี่ยวชาญ (Expert) โดยเฉพาะในกรณีเกิดโรคแทรกซ้อน

มีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากมายในแวดวงของกายภาพบำบัดในอดีตที่ผ่านมา แต่มีเพียง 2 เรื่องที่เป็นจุดเด่นสำหรับนักกายภาพบำบัด กล่าวคือ จำนวนวันในการนอนโรงพยาบาล กับ องค์ความรู้ในการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)