ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 62 : เครื่องมือรังสีวินิจฉัยและรังสีรักษา (2)

เครื่องตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI = Magnetic Resonance Imaging) เป็นเครื่องมือถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัย (Diagnostic imaging) ที่แตกต่างจากเครื่องซีทีสแกน (CT Scanner; CT = Computed Tomography) ตรงที่มิได้มีการใช้เอ็กซเรย์เพื่อผลิตภาพ แต่สร้างภาพจากคลื่นเสียงที่เกิดจากคลื่นแม่เหล็ก กล่าวคือเป็นวิธีการที่อาศัยแม่เหล็กที่มีพลังสูงในการทำปฏิสัมพันธ์กับโมเลกุลต่างๆ ในร่างกาย

MRI เป็นวิธีการใหม่ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 (ประมาณ พ.ศ. 2513) โดยยังไม่มีรายงานถึงอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่ให้ประสิทธิผลเหนือกว่าเครื่องซีทีสแกน ในการเปรียบเทียบเนื้อเยื่ออ่อนในร่างกาย จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับตรวจสมอง โครงกระดูกและกล้ามเนื้อ (Musculoskeletal) และโรคมะเร็ง

ในสาขาการแพทย์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine : NM) หรือที่เรียกว่า Scientigraphy มีการใช้วัตถุกัมมันตรังสี (Radioactive) ในการวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรค ในหัตถการ (Procedure) ของการแพทย์นิวเคลียร์มีการรวมธาตุกัมมันตรังสี (Isotope) กับสารประกอบเคมีหรือยา ในการผลิตยากัมมันตรังสี (Radiopharmaceuticals)

ยาดังกล่าวใช้ภายในร่างกาย ผ่านทางปาก/กิน (Oral) หรือฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Intravenous) ซึ่งจะแตกต่างตามอวัยวะหรือส่วนของร่างกายที่ต้องการค้นหาสาเหตุ (Investigation) วิธีการที่ร่างกายผู้ป่วยมีปฏิกิริยากับสารดังกล่าว (เปรียบเทียบร่างกายของผู้ที่มิได้เจ็บป่วย) สามารถเปิดเผยถึงกระบวนการทางสรีระ และการสันดาปอาหาร เป็นต้น

เครื่องมือ (Modality) อื่นที่นิยมกันแพร่หลายในปัจจุบัน ยังได้แก่เครื่องมือถ่ายภาพเต้านม (Mammography) ลงบนแผ่นฟิล์ม สามารถแสดงรายละเอียดโครงสร้างภายในของเต้านมได้อย่างชัดเจน ซึ่งประกอบด้วย ต่อมน้ำนม ท่อน้ำนม ไขมัน หลอดเลือด ต่อมน้ำเหลือง และชั้นของผิวหนัง ของเต้านม

เครื่องมือนี้มีประโยชน์ในหัตการวินิจฉัยและคัดกรอง เพื่อตรวจเต้านมซึ่งส่งผลถึงประสิทธิผลการรักษาในการลดอัตราการตาย (Mortality) ของผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม แล้วยังช่วยวินิจฉัยโรคของเต้านมชนิดต่างๆ อันได้แก่ ก้อนเนื้องอกธรรมดา ถุงน้ำอักเสบ และการเกิดหินปูน รวมทั้งช่วยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง/อัลตราซาวด์ (Ultrasound) แต่ไม่มีอันตรายต่อร่างกายผู้รับการตรวจ แพทย์นิยมใช้อุลตราซาวด์/อัลตราซาวด์เป็นประจำ (Routine) ในการตรวจอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เพื่อดูความผิดปรกติทั่วๆ ไป อาทิ หัวใจ ตับ ม้าม ไต ถุงนํ้าดี ช่องท้อง และมดลูก หรือการอุดตัน โป่ง หรือขอดของหลอดเลือด

อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจอัลตราซาวด์ดังกล่าวไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะส่วนที่มีลมได้ อาทิ ปอด และกระเพาะอาหาร เพราะอากาศจะไม่สะท้อนคลื่นสัญญาณกลับ ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณมาสร้างภาพได้ และไม่สามารถตรวจอวัยวะที่เป็นกระดูกได้ หรือถูกกระดูกบังเพราะกระดูกจะสะท้อนคลื่นกลับหมด ไม่อาจทะลุทะลวงลงไปยังอวัยวะต่างๆ ได้

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)