ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 54 : กระบวนการห้องปฏิบัติการ

หน้าที่หลักของการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Laboratory) คือการออกผล [ข้อมูล] ที่ถูกต้องแม่นยำ ในการวินิจฉัยสภาวะของผู้ป่วย เพื่อวางแผนเพิ่มความน่าจะเป็นในการบรรลุผลลัพธ์ (Outcome) ทางการแพทย์ที่ต้องการ การผลิตข้อมูลในห้องปฏิบัติการ เป็นผลขั้นสุดท้ายของกระบวนการที่สืบเนื่องกัน (Sequential process)

กระบวนการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมก่อนการวิเคราะห์ (Pre-analytics) กิจกรรมระหว่างวิเคราะห์ (Analytics) และกิจกรรมหลังการวิเคราะห์ (Post-analytics) โดยกิจกรรมเริ่มต้นที่ใบสั่งแพทย์ให้มีการตรวจวิเคราะห์ด้วยตัวอย่าง/สิ่งส่งตรวจ (Specimen) ของผู้ป่วย

กระบวนการสืบเนื่องดังกล่าว เรียกว่า “เส้นทางการไหลเวียนของงาน” (Path of work flow) ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายปรับปรุงห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Clinical Laboratory Improvement Act : CLIA) เนื่องจากระดับของคุณภาพบริการ มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วย ทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบ

ดังนั้น จึงต้องมีการประเมินกระบวนการและระเบียบวิธี (Procedure) ที่ติดตั้งในห้องปฏิบัติการ ในแง่ผลกระทบต่อการไหลเวียนของงาน การออกแบบต้องมีระดับคุณภาพ ที่จำเป็นต่อการลดข้อผิดพลาด (Error) และทรัพยากรที่สูญเปล่า ในขณะที่เล็งผลเลิศ (Efficacy) การบรรจุดมุ่งหมายดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อมีแนวทางปฏิบัติ (Guidelines) ที่คงเส้นคงวา จนได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ (Accreditation)

การประเมินการทดสอบ (Test) จากมิติของห้องปฏิบัติการอย่างเดียว [อาทิ การเลือกการทดสอบ (Test selection) ความถูกต้องแม่นยำ (Accuracy) และความรวดเร็วในการออกผล (Turnaround time) ต้นทุนต่ำ (Low cost) และการตอบโจทย์เฉพาะ (Sensitivity/specificity)]นั้นไม่เพียงพอ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ ต้องรับผิดชอบต่อการประเมินผลกระทบของผลทดสอบที่มีต่อผลลัพธ์ (Outcome) และต้นแบบการบำบัด (Therapeutic protocol) ของผู้ป่วยด้วย

ดังนั้น การปฏิสัมพันธ์ (Interact) กับทีมงานวิชาชีพดูแลสุขภาพอื่นๆ (Healthcare professionals อาทิ แพทย์สาขาต่างๆ พยาบาล เภสัชกร และนักรังสีเทคนิค นักกายภาพบำบัด) จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการสร้างความมั่นใจในคุณภาพการดูผู้ป่วย นับเป็นบทบาทสำคัญที่ขยายขอบเขตจากวิธีปฏิบัติแต่ดั้งเดิม

รูปแบบ (Format) ของการรายงานผลการทดสอบ การตีความหมาย (Interpretation) และการเก็บบันทึกของการทดสอบ ก็เป็นขั้นตอนสำคัญในการช่วยแพทย์กำหนดปฏิบัติการ (Action) และการบำบัดรักษา (Interventions) ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการออกผลแล้ว และไม่อยู่ในความควบคุมของห้องปฏิบัติการอีกต่อไป

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล -

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)