ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 129 : การเรียกเก็บเงิน

นอกเหนือจากการให้บริการดูแลสุขภาพแล้ว แพทย์ผู้รักษายังต้องรับผิดชอบต่อ (1) การบันทึกรายละเอียดของการรักษาพยาบาลในแฟ้มประวัติผู้ป่วย (Medical record) ในลักษณะที่กฎเกณฑ์กำหนด และ (2) การอนุมัติค่าใช้จ่ายบริการ เพื่อเป็นเอกสารประกอบการเบิกจ่าย (Claim re-imbursement)

เจ้าหน้าที่ลงบันทึกรายการ (Billing) รวมทั้งค่านักวิชาชีพ (Professional fee) ไม่ว่าจะชำระด้วยเงินสด เช็ค หรือบัตรเครดิต รายการปรับปรุง อาทิ ตัดเป็นหนี้สูญ (Write-off) หรือให้ฟรี (Courtesy) และยอดคงเหลือค้างชำระ เจ้าหน้าที่อาจใช้สำเนา แบบฟอร์มเรียกเก็บเงิน (Charge slip/service slip) ในการลงบันทึกรายการ

อย่างไรก็ตาม หากโรงพยาบาลใช้ระบบลงบันทึกคำสั่ง (Order entry) ทางอิเล็กทรอนิกส์ ค่าบริการก็จะถูกโอนเข้าบัญชีผู้ป่วย (Patient accounting) และบันทึกเข้ารายการเบิกจ่ายโดยอัตโนมัติ จากนั้นก็เป็นกระบวนการลงรหัส (Coding) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรวบรวมข้อมูลในการขอเบิกจ่าย

เมื่อเจ้าหน้าที่ลงรหัส ICD-9/ICD-10 (ICD = International Classification of Diseases หรือการแยกประเภทของโรคตามมาตรฐานสากล) แล้ว โรงพยาบาลสามารถขอเบิกจ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเอกสาร ทั้งสองวิธีเกิดจากรวบรวมข้อมูลที่ใช้ในการขอเบิกจ่าย แต่ในสหรัฐอเมริกา การขอเบิกจ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทำผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic data interchange : EDI) แทนการส่งทางไปรษณีย์หรือโทรสาร

การส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยลดข้อผิดพลาดของการเบิกจ่าย ให้ความมั่นคงปลอดภัย (Security) ในข้อมูลที่ส่ง และทำให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้รวดเร็วขึ้น ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเบิกจ่ายทางอิเล็กทรอนิกส์ มักได้รับการออกแบบให้รองรับในกรณีที่โรงพยาบาลยังคงใช้เอกสารอยู่ [กล่าวคือ ยังมิได้เปลี่ยนไปเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์] ด้วย

เมื่อข้อมูลได้ถูกโอนไปยังบัญชีผู้ป่วยแล้ว การขอเบิกจ่ายจะได้รับการตรวจสอบในเรื่องความถูกต้องแม่นยำและความสมบูรณ์ของข้อมูล โรงพยาบาลบางแห่งมีระบบการตรวจสอบภายใน (Internal audit) ที่สุ่มตรวจการขอเบิกจ่ายตามกองทุน โดยค้นหาข้อผิดพลาดในการเบิกจ่าย แล้วแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันมิให้โรงพยาบาล ส่งข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไป

เจ้าหน้าที่ลงบันทึกรายการ พิจารณาการเบิกจ่ายจากแฟ้มประวัติผู้ป่วย เพื่อค้นหาว่าบริการการวินิจฉัยโรค (Diagnosis) และหัตถการ (Procedure) ทั้งหมดได้รับการบันทึกอย่างถูกต้องหรือไม่ หากพบข้อผิดพลาด จะต้องแก้ไขก่อนส่งไปขอเบิกจ่าย [จากกองทุนของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือบริษัทประกันสุขภาพของเอกชน]

กองทุนของรัฐดังกล่าว ได้แก่ (1) กองทุนประกันสังคม (2) กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ (3) กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ [ซึ่งมีรายละเอียดและความซับซ้อนที่แตกต่างกันในแต่ละกองทุน แต่กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ใช้นโยบาย มาตรฐาน และระบบเดียวกันในที่สุด]

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)