ปฏิบัติการในโรงพยาบาล - จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 111 : การบริหารความเสี่ยงในโรงพยาบาล

องค์กรรับรองมาตรฐานให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ร้ายแรงจนอาจถึงแก่ความตาย (Sentinel event) ซึ่งได้รับการนิยามว่า “เป็นกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดมาก่อน แต่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บอย่างรุนแรงต่อร่างกาย (Physical) หรือจิตใจ (Psychological) จนผู้ป่วยอาจถึงแก่ความตาย หรือสูญเสียอวัยวะสำคัญอย่างถาวร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของคนไข้ตามปรกติ”

นอกจากนี้ยังรวมเหตุการณ์อื่นๆ อาทิ การผ่าตัดผิดตัวผู้ป่วย ผิดอวัยวะของร่างกายผู้ป่วย การลักพาทารก ผู้ป่วยที่ฆ่าตัวตาย หรือถูกข่มขืนขณะอยู่ในโรงพยาบาล ตลอดจนการได้รับเลือด (Transfusion) กรุ๊ปที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatibility) เหตุการณ์เหล่านี้ ต้องแจ้งให้องค์กรรับรองมาตรฐานรับรู้ทุกกรณี

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว โรงพยาบาลต้องวิเคราะห์รากเหง้าของสาเหตุ (Root cause analysis) เพื่อค้นหาปัจจัยขั้นพื้นฐานที่นำไปสู่การแก้ปัญหา และปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาซ้ำในอนาคต นอกเหนือจากการสอบสวน (Investigation) อย่างละเอียดแล้ว โรงพยาบาลต้องกำหนดมาตรการที่เป็นสุดยอดของปฏิบัติการ (Best practice)

โรงพยาบาลยังต้องกำหนดบุคลากรที่รับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในปฏิบัติการ เวลาในการลงมือปฏิบัติ การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการเฝ้าติดตาม (Monitor) และการประเมินประสิทธิผลของการเปลี่ยนแปลง หลังการเปลี่ยนแปลงได้ผ่านพ้นไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง

เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นตัวอย่างของการบริหารความเสี่ยง (Risk management) ในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า ในการค้นหาและหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะเกิดความเสียหายในโรงพยาบาล ที่มีสาเหตุมาจากผู้ป่วย ผู้เยี่ยมไข้ และบุคลากรของโรงพยาบาลเอง ทั้งที่จงใจและที่ไม่มีเจตนา

หน่วยงานที่รับผิดชอบในหน้าที่นี้ ต้องประสานงานกับทุกหน่วยงานทั่วทั้งโรงพยาบาล ในการลงมือปฏิบัติมาตรการป้องกันการสูญเสีย และกิจกรรมที่ปรับปรุงให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานในเรื่องอุบัติการณ์ (Incident) และอุบัติเหตุ (Accident) ที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล เพื่อการวิเคราะห์ ประเมิน ค้นหาสาเหตุ แก้ไข และลดความเสี่ยงในทุกสถานการณ์

การบริหารความเสี่ยง ควรเป็นส่วนหนึ่ของบูรณาการกับกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ (Quality improvement) ในโรงพยาบาล โดยทำงานเป็นทีมซึ่งมีสมาชิกมาจากหน่วยงานต่างๆ ที่รวมบุคลกรทางการแพทย์และทางบริหาร (แม้ว่าโรงพยาบาลอาจมอบหมายบุคคลหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารก็ตาม) จึงจะเกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

ในทางปฏิบัติ จุดมุ่งหมายหลักของการบริหารความเสี่ยงคือการพิทักษ์ทรัพย์สินของโรงพยาบาล ในขณะที่จุดมุ่งหมายหลักของกระบวนการปรับปรุงคุณภาพ คือการพิทักษ์ผู้ป่วย แต่ในภาพรวม ทั้งสองหน่วยงานต่างต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันในการสร้างสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลให้มีความปลอดภัย

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)