ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 7 : โรงพยาบาลสมัยใหม่ (4)

การค้นพบและเหตุการณ์ต่างๆ ในศตวรรษที่ 19 จากยุโรป ยังผลให้มีการก่อสร้างโรงพยาบาลจำนวนมาก เมื่อสิ้นสุดศตวรรษดังกล่าว สหรัฐอเมริกามีโรงพยาบาล 149 แห่งโดยมีขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย ด้วยจำนวนกว่า 35,000 เตียง และต่ำกว่า 10% ของสถานพยาบาลดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ

เมื่อเริ่มศตวรรษที่ 20 โรงพยาบาลชั้นนำอยู่ในรูปแบบของอาสาสมัคร (Voluntary) ที่มุ่งเน้นการรักษาโรคเฉพาะทาง และเฉียบพลัน (Acute) ภายในสังคมที่บุคลากรใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะใกล้ชิดที่สุดกับมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลที่หวังผลกำไร (Profit-making) มักเป็นศูนย์ผ่าตัดขนาดเล็ก และไม่มีความสัมพันธ์กับโรงเรียนแพทย์

โรงพยาบาลในเขตเทศบาลและมณฑล มักจะเป็นสถานพยาบาลท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุด เมื่อนับจำนวนเตียงที่ดูแลการเจ็บป่วยจากโรคนานาชนิด โดยเฉพาะที่เฉียบพลันและเรื้อรัง (Chronic) ส่วนโรงพยาบาลสังกัดศาสนาและชนหมู่น้อย มักมีขนาดกลาง ซึ่งมิได้รับงบประมาณอุดหนุน จึงต้องเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ป่วย [และเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา]

ในปี ค.ศ. 1847 ได้มีการก่อตั้งสมาคมการแพทย์อเมริกัน (American Medical Association : AMA) [ทำหน้าที่เหมือนกับ แพทยสภาของไทยในปัจจุบัน] ในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นสตรีได้รับการยอมรับให้เป็นแพทย์ได้ หลังจากที่มีการต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพดังกล่าว มาระยะหนึ่ง

เช่นเดียวกับ AMA ที่ต้องต่อสู้กับแรงต้าน ในความพยายามยกระดับมาตรฐานการศึกษาและขีดความสามารถทางวิชาชีพของแพทย์ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หลังจากที่มีรายงานพิสูจน์ข้อกล่าวหาในเรื่องความล้มเหลวของระบบการดูแลสุขภาพของสหรัฐอเมริกาและช่องว่างระหว่างการศึกษาของแพทย์กับปฏิบัติการของแพทย์

ตัวอย่างข้อบกพร่องดังกล่าว ได้แก่ การตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการที่มิได้มีตัวตน การไม่ฆ่าเชื้อในห้องผ่าตัด ห้องสมุดที่มิได้มีตำราแพทย์ อาจารย์คณะแพทย์ที่มุ่งทำงานในคลินิกส่วนตัว และโรงเรียนแพทย์ที่ยกเว้นข้อกำหนดการรับเข้าเรียนสำหรับผู้มีเงินจ่าย [ใต้โต๊ะ] ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการตื่นตัวที่นำไปสู่การ “ปฏิรูป” ครั้งใหญ่ในวงการแพทย์

ในศตวรรษที่ 20 สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกา ซึ่งยังผลให้เกิดแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อดูแลสุขภาพ จากโครงการประกันสุขภาพ (Health insurance plan) อาทิ Blue Cross และ Blue Shield [ซึ่งเป็นโครงการประกันสุขภาพคุ้มครองบริการจากโรงพยาบาล และคุ้มครองบริการจากแพทย์ ตามลำดับ และต่อมาได้รวมเป็นองค์กรและโครงการเดียวกัน]

รัฐบาลกลาง (Federal Government) ของสหรัฐอเมริกาเริ่มมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชากรทั่วประเทศผ่านกฎหมายการก่อตั้งสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ ใน ปี ค.ศ. 1965 ก็ลงมือปฏิบัติโครงการ Medicare [ซึ่งประกันสุขภาพของผู้สูงวัย] และโครงการ Medicaid [ซึ่งประกันสุขภาพของผู้ยากไร้]

ปฏิบัติการดังกล่าว ตั้งอยู่บนหลักการของการดูแลสุขภาพ ว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน (Right) มิใช่อภิสิทธิ์ (Privilege) ของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของโรงพยาบาลที่ได้ยึดถือมาแต่กำเนิดจนถึงปัจจุบัน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA: Jones & Bartlett Learning.