ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 6 : โรงพยาบาลสมัยใหม่ (3)

ในเวลาไล่เลี่ยกันกับยุคฟลอเร็นซ์ ไนติงเกล ยังมีพัฒนการอีก 2 อย่าง อันนำมาซึ่งการปรับปรุงปฏิบัติการในโรงพยาบาล กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 1873 ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนการพยาบาล (Nursing school) ขึ้น 3 แห่ง ที่ New York, New Haven และ Boston สำหรับฝึกอบรมสตรีสูงศักดิ์ เพื่อปฏิบัติงานในโรงพยาบาล

แม้จะได้รับการต่อต้านในระยะแรกจากแพทย์ผู้เชื่อว่า สตรีที่มีการศึกษาสูงเหล่านั้น คงไม่ยอมรับคำสั่งจากแพทย์ซึ่งมิได้มาจากชนชั้นสูงเสมอไป แต่สตรีเหล่านั้นก็ได้พิสูจน์ความเป็นมืออาชีพ (Professionalization) ของการพยาบาลให้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในเวลาต่อมา

อย่างที่ 2 คือการผ่าตัดแบบปลอดเชื้อ (Antiseptic surgery) ในปี ค.ศ. 1867 นำโดยโจเซฟ ลิสเตอร์ (Joseph Lister) เช่นเดียวกับวิชาชีพพยาบาล การผ่าตัดเป็นที่ยอมรับกันแพร่หลายในปลายทศวรรษ 1800 โดยเฉพาะหลังการค้นพบยาสลบ (Anesthesia) ซึ่งทำให้การผ่าตัดง่ายขึ้น ชะลอเวลาให้ช้าลงได้ ระมัดระวังยิ่งขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น

การผ่าตัดได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงทศวรรษ 1890 และต้นทศวรรษ 1900 โดยเพิ่มขึ้นในปริมาณ ขอบแขต และความท้าทาย ในปี ค.ศ. 1883 จำนวนรายของผู้ป่วยรับการผ่าตัด สูงกว่าจำนวนรายของผู้ป่วยรับการเยียวยาตามโรงพยาบาลต่างๆ ในนครบอสตัน ในขณะที่โรงพยาบาลก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น จากการบริการผู้ป่วยทุกชนชั้นและทุกวิชาชีพในสังคม

การนำวิธีการวิทยาศาสตร์เข้าสู่วงการแพทย์ในเวลานั้น นับเป็นขั้นตอนสำคัญในพัฒนาการของการดูแลสุขภาพทั่วโลก อาทิ การค้นพบแบคทีเรียของ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) ว่าเป็นสาเหตุของโรค นำไปสู่การควบคุมการติดเชื้อ (Infection control) ในยุโรป หลังพบอัตราการตาย (Mortality) สูง ในบรรดาสตรีหลังคลอดบุตร (Postpartum)

ในปี ค.ศ. 1870 ศัลยแพทย์มักปฏิบัติตาม “ต้นแบบ” (Protocol) ของการผ่าตัด ด้วยการฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อบนตัวเอง ผู้ป่วย และห้องผ่าตัด ด้วยสารคาร์บอลิก (Carbolic solution) ทำให้กรณีติดเชื้อจากการผ่าตัดลดลง ใน ปี พ.ศ. 1886 มีการค้นพบการฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ (Steam sterilization) และใน ค.ศ. 1886 มีการนำถุงมือยาง (Rubber glove) มาใช้ในการผ่าตัดเป็นครั้งแรก

พัฒนาการสำคัญของการผ่าตัดในยุคการแพทย์สมัยใหม่ มาจนถึงยุคปัจจุบัน ได้แก่ การค้นพบ (1) “ทฤษฏีการก่อให้เกิดโรค” (Germ theory) ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิชาแบคทีเรีย (Bacteriology) และห้องปฏิบัติทางการแพทย์(Clinical laboratory) (2) ยาสลบ (3)วิธีการฆ่าเชื้อโรค และ (4) วิธีการเอกซเรย์ (X-Ray) ในปี ค.ศ. 1895

ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลเริ่มให้บริการผู้ป่วยจากโรคระบาด หลังจากการค้นพบวัณโรค (Tuberculosis) พยาธิมาลาเรีย (Malaria parasite) มีการฉีดวัคซีนต้านโรคร้ายแรงในวัวควาย (Anthrax) และแยกผู้ป่วยอหิวาตกโรค (Cholera) และโรคบาดทะยัก (Tetanus)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA: Jones & Bartlett Learning.