ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 4 : โรงพยาบาลสมัยใหม่ (1)

โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นหลายแห่ง ตั้งแต่โรงพยาบาล New York [รักษาโรคทางกาย] ในรัฐนิวยอร์ค และ โรงพยาบาล Williamsburg [รักษาโรคทางจิต] ในรัฐเวอร์จิเนีย ใน ปี ค.ศ. 1773 จนถึงโรงพยาบาลทหารเรือ 2 แห่ง ของรัฐบาลกลาง (Federal Government) ณ เมือง Boston รัฐแมสสาชูเส็ตส์ และ ณ เมือง Norfolk รัฐเวอร์จิเนีย ในปี ค.ศ. 1802 และวิวัฒนามาถึงโรงพยาบาลรุ่นบุกเบิกของแพทย์แผนปัจจุบันชื่อ Massachusetts General Hospital ณ เมือง Boston ใน ปี ค.ศ. 1821

อันที่จริง ระบบโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาได้พัฒนาในรูปแบบที่เด่นชัด 3 สมัยด้วยกัน ในสมัยแรก ซึ่งอยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1751 ถึง 1851 เป็นลักษณะการก่อตั้งของโรงพยาบาล 2 ประเภท อันได้แก่ โรงพยาบาลสาธารณะขององค์การกุศล กับโรงพยาบาลรัฐของเทศบาลประจำท้องถิ่น

ในสมัยที่ 2 เริ่มต้นประมาณ ค.ศ. 1851 เป็นเวลาประมาณ 50 ปี ลักษณะเป็นโรงพยาบาลท้องถิ่นของศาสนาหรือชนหมู่น้อย ที่มีพัฒนาการกลายเป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ส่วนในสมัยที่ 3 เริ่มต้นพร้อมกับศตวรรษที่ 20 เมื่อมีการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนที่มุ่งหวังกำไร โดยคณะแพทย์ที่รวมตัวกันเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด

ในสมัยแรกๆ จนถึงช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 ชาวอเมริกันยังไม่นิยมไปใช้บริการที่โรงพยาบาล ส่วนใหญ่มักคลอดลูก และดูแลความเจ็บไข้ได้ป่วย (แม้กระทั่งผ่าตัด) ที่บ้าน เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ใน 100 ปีแรกของประวัติศาสตร์อเมริกัน ยังเป็นสังคมเกษตรและชนบท ซึ่งมีผู้คนจำนวนไม่มากที่ได้เห็นโรงพยาบาล ในชั่วชีวิตของเขา

การไปนอนที่โรงพยาบาลยังมีต้นทุนทางอ้อมที่สูง เพราะหมายถึงการสูญเสียเวลาทำงานในท้องทุ่งนาเป็นเวลาหลายวัน และโรงพยาบาลสมัยนั้นมักมีชื่อเสีย ของการเป็น “สุสาน” ฝังผู้ป่วย อัตราผู้ตาย (Mortality) ในโรงพยาบาลอยู่ในระดับค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ ความต้องการเป็นส่วนตัว (Privacy) ซึ่งเป็น “ค่านิยม” สมัยวิคตอเรีย (Victoria) ในยุโรป ที่แผ่อิทธิพลมายังสหรัฐอเมริกา ทำให้ชาวอเมริกันต้องการพบแพทย์ที่บ้านของตนเองมากกว่า และชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็อยู่ในฐานะที่สามารถจ่ายค่าอำนวยความสะดวกดังกล่าวได้ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วในเวลานั้น

หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังจาการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่ภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้การอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ในบ้านหลังใหญ่ ได้กลายสภาพเป็นครอบครัวที่มีลูกเพียง 2 – 3 คนในบบ้านเล็กลง ทำให้ครอบครัวไม่สามารถดูแลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวได้ดีอีกต่อไป

ในขณะเดียวกัน โรงพยาบาลก็มีวิวัฒนาการจาก “โรงทาน” ที่ทำหน้าที่บริการสวัสดิการแก่ผู้ยากไร้และดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ กลายมาเป็นโรงพยาบาลสมัยใหม่ ที่ให้บริการเฉพาะตามความเชี่ยวชาญของแต่ละโรค และเริ่มเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปในสาธารณชน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA: Jones & Bartlett Learning.