ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 30 : บทบาทของพยาบาล

อาจกล่าวได้ว่า เกือบทุกแผนกในโรงพยาบาล จะใช้บริการของฝ่ายการพยาบาล บทบาทของพยาบาลมีทั้งการดูแลผู้ป่วยและการบริหารจัดการ (Administration) มีทั้งการฝึกฝนอบรม และเป็น “พี่เลี้ยง” (Mentor) แก่พยาบาลผู้ด้อยประสบการณ์กว่า รวมทั้งการประกันคุณภาพ (Quality assurance) การดูแลผู้ป่วย

การควบคุมการติดเชื้อ (Infection control) เป็นบทบาทสำคัญของพยาบาล ที่ต้องสร้างความมั่นใจว่า มีมาตรการล่วงหน้า (Precaution) การสัมผัสผู้ป่วยที่เหมาะสม อาทิ การสวมถุงมือ การใส่เสื้อกาวน์ สำหรับผู้เยี่ยมก่อนเข้าหอผู้ป่วยใน (Ward) ซึ่งมักเก็บไว้ในตู้ใกล้ประตูห้องผู้ป่วย

พยาบาลยังมีบทบาทสำคัญในการประเมินอาการผู้ป่วยด้วยทักษะและความรู้ การเฝ้าระวังด้วยเครื่องมือ (Monitoring equipment) การให้ยาผู้ป่วย (Medication) ตามใบสั่งแพทย์ (Prescription) และการสืบค้น (Investigate) ความผิดปรกติที่สำแดงด้วยตัวบ่งชี้ (Indicator) อาทิ อัตราการติดเชื้อสูงหลังการผ่าตัดหรือทำคลอด

ในกรณีที่ผู้ช่วยพยาบาล (Nurse Aid) ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในประเทศไทย พยาบาลต้องปฏิบัติหน้าที่ขั้นพื้นฐาน อาทิ การตรวจสัญญาณวิกฤต (Vital signs) การวัดอุณหภูมิ การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด การพาผู้ป่วยเข้าห้องน้ำ และการอาบน้ำผู้ป่วยบนเตียง (Bed bath) นอกจากนี้ยังต้องมีการจดบันทึกรายละเอียด ทำรายงาน สื่อสารกับแพทย์ รับโทรศัพท์ ขอเบิกยา เวชภัณฑ์ และวัสดุทั่วไป รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้เยี่ยมไข้

ตำแหน่ง “หัวหน้าพยาบาลประจำบ้าน” (House supervisor) เป็นการบริหารจัดการ ซึ่งมักเริ่มขึ้นในกะบ่ายและอยู่ต่อถึงกลางคืน มีหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในเวลากลางคืน หรือเมื่อผู้จัดการมิได้ปฏิบัติหน้าที่ และรับผิดชอบต่อการประเมินงานของกะต่อไป เพื่อจัดตารางเวร (Scheduling) กำหนดจำนวนบุคลากรที่จำเป็นต่อการตอบสนองความต้องการในการดูแลผู้ป่วย

ความเข้าใจบทบาทของพยาบาล นำไปสู่การกำหนดมาตรฐานการพยาบาล (Nursing standards) ในการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตลอด 24 ชั่วโมง สมาคมโรงพยาบาลอเมริกัน (American Hospital Association : AHA) และสมาคมการพยาบาลอเมริกัน (American Nursing Association : ANA) ได้กำหนดมาตรฐานดังกล่าวไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493

ปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดมาตรฐานการพยาบาล ได้แก่ อัตราส่วนของจำนวนพยาบาลต่อผู้ป่วย และต่อบุคลากรอื่นในแผนก ที่เหมาะสมต่อการดูแลผู้ป่วย อาทิ จำนวนพยาบาลวิชาชีพ (Registered Nurse : RN) ต่อผู้ช่วยพยาบาล งบประมาณค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากการจัดสรร การได้รับข้อมูลเพียงพอในการปฏิบัติงาน ภาระงาน (Workload) ที่ได้รับมอบหมาย ตลอดจนโครงสร้างขององค์กร (Organizational structure)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)