ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 29 : โรงเรียนการพยาบาล

อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในคาดหวังจากผู้ให้บริการคือคุณภาพ ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของทักษะความชำนาญ ความสุภาพอ่อนโอน และความเห็นอกเห็นใจ ภายในโรงพยาบาล แผนกแรกที่จะสนองความคาดหวังดังกล่าว คือฝ่ายการพยาบาล (Nursing Services) ซึ่งพยาบาลเป็นนักวิชาทางการแพทย์กลุ่มใหญ่ที่สุด

ในสมัยก่อนการพยาบาลได้รับอิทธิพลจากสถาบัน อาทิ ศาสนจักรโรมันแคธิลิก (Roman Catholic Church) และกองทัพ และจากบุคคล อาทิ ฟลอเร็นซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) ผู้ทำให้การพยาบาลมีภาพลักษณ์เป็นที่ยอมรับนับถือ หลังจากปฏิบัติการของเธอในสงครามไครเมีย (Crimean War) เธอได้รับการยกย่องว่า เป็น “มารดาแห่งการพยาบาลสมัยใหม่” (Mother of Modern Nursing)

หลังสงครามดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2402 เธอได้ก่อตั้งโรงเรียนการพยาบาล ตามชื่อของเธอ ณ โรงพยาบาลเซนต์โธมัส (St. Thomas) ในนครลอนดอน ส่วนในสหรัฐอเมริกา แม้จะมีหลักฐานอ้างอิงถึงการพยาบาลย้อนหลังไปถึง ปี พ.ศ. 2341 แต่ก็ได้ยึดถือหลัการของโรงเรียนการพยาบาลฟลอเร็นซ์ ไนติงเกล ในเวลาต่อมา

ในปี พ.ศ. 2415 ได้มีการก่อตั้งโรงพยาบาลสำหรับแม่และเด็กชื่อ New England Hospital for Women and Children ขึ้นในนครบอสตัน แล้ว 1 ปีให้หลัง จึงมีการก่อตั้ง Massachusetts General Hospital School of Nursing ในนครบอสตัน และ Bellevue Hospital School of Nursing ในนครนิวยอร์ก

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รูปแบบ (Model) การศึกษาวิชาการพยาบาลได้รับการพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้นตลอดเวลา จนมีหลักสูตรการสอนพยาบาลวิชาชีพ (Registered Nurse : RN) ในโรงพยาบาล จบแล้วมีการออกประกาศนียบัตรรับรอง โดยเน้นหนักทักษะความชำนาญในทางคลินิก (Clinical Skills) ปฏิบัติหน้าที่ในการเป็น “ผู้ช่วย” (Handimaiden) ของแพทย์

แต่การขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอย่างมาก นำไปสู่การพัฒนา “พยาบาลอาชีวะ” ที่ต้องขึ้นทะเบียนรับรองอาชีวะ (Licensed Vocational Nurse : LVN) โดยบุคลากรกลุ่มนี้ใช้เวลาศึกษาเพียงครึ่งหนึ่งของพยาบาลวิชาชีพ แต่จำกัดขอบเขตของปฏิบัติการ นอกจากนี้ ยังมีการผลิต “ผู้ช่วยพยาบาล” (Nurse Aide : NA) และผู้ช่วยทั่วไปที่มิได้มีการขึ้นทะเบียนรับรอง เนื่องจากความต้องการดูแลผู้ป่วย เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ในปี ทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503) ได้มีการมีการโอนย้ายระบบการศึกษาวิชาการพยาบาล จากโรงพยาบาลไปสู่วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย หลักสูตรอาชีวะ 2 – 3 ปีได้รับการพัฒนาให้เป็นหลักสูตร 4 ปี ตามมาตรฐานของปริญญาตรี (Bachelor’s Degree) และหลักสูตร 2 ปี ตามมาตรฐานอนุปริญญา (Associate Degree)

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning.
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)