ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 23 : การทำคลอด

การทำคลอด (Labor & Delivery) โดยทั่วไปมีอยู่ 2 วิธี วิธีแรกคือวิธีตามธรรมชาติซึ่งมีขั้นตอนการคลอด ดังนี้

  • ขั้นต้น (Early labor) : การบีบตัว (Contraction) [ของมดลูก] จะเกิดขึ้นทุกๆ 5 – 20 นาที และยาวนาน 30 – 45 วินาทีในแต่ละครั้ง ในช่วงนี้คอมดลูก/ปากมดลูก (Cervix) จะขยายตัว 0 – 3 เซ็นติเมตร อาจมีเลือดเจือปนด้วยเมือกไหลออก (Discharge) ขั้นตอนนี้อาจยาวนาน ระหว่าง 2 – 12 ชั่วโมง ควรเคลื่อนไหวหรือเดินอย่างระมัดระวังระหว่างนี้
  • ขั้นกลาง (Active Labor) การบีบตัว [ของมดลูก] จะเกิดขึ้นทุกๆ 3 – 5 นาที และยาวนาน 45 – 60 วินาทีในแต่ละครั้ง อาจมีความรู้สึกเจ็บปวดจากการบีบตัว [ของมดลูก] ในช่วงนี้ คอมดลูก จะขยายตัว 3 – 7 เซ็นติเมตร
  • ขั้นแปรเปลี่ยน (Transition Labor) : การบีบตัว [ของมดลูก] จะเกิดขึ้นทุกๆ 2 – 3 นาที และยาวนาน 60 – 90 วินาทีในแต่ละครั้ง จะมีความรู้สึกเจ็บปวดจากการบีบตัว [ของมดลูก] มากขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ ซึ่งคอมดลูก จะขยายตัว 10 เซ็นติเมตร
  • เบ่งเต็มที่ (Pushing) : ปรกติช่วงนี้จะใช้เวลายาวนาน 30 – 90 นาที จะมีความรู้สึกเจ็บปวดจากการบีบตัว [ของมดลูก] ไม่มาก แต่จะเกิดขึ้นทุก 3 – 5 นาที และจะรู้สึกอยากเบ่งให้ทารกออกจากช่องคลอด สูติแพทย์จะแนะนำวิธีการและเวลาที่ควรเบ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ออกแรงมาก แต่จะรู้สึกพลังฟื้นหลังจากทารกเริ่มโผล่หัว หลังจากคลอดออกมาเต็มตัวแล้ว สูติแพทย์จะตัดสายสะดือ (Umbilical cord) และใช้เครื่องดูดจมูกและปากทารกจนกว่าทารกจะเริ่มหายใจเองได้ แล้วจะถูกส่งต่อให้กุมารแพทย์ตรวจสุขภาพต่อไป
  • ขับรกในครรภ์ (Placenta) ออก : ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย ใช้เวลาอีกประมาณ 45 นาที ก็จะเสร็จสิ้นการทำคลอด แต่จะมีเลือดไหลออก (Bleeding) มาก และการบีบตัว [ของมดลูก] เบาบาง ระหว่างการขับรกในครรภ์ออก

อีกวิธีหนึ่งของการทำคลอด คือการผ่าท้อง (Caesarean section) เป็นหัตถการทางด้านสูติกรรม กระทำโดยการผ่าที่บริเวณส่วนท้อง (Abdomen) และมดลูก (Uterus)ของแม่ เพื่อให้ทารกในครรภ์คลอด มักทำเมื่อการคลอดตามวิธีธรรมชาติ [ผ่านช่องคลอด (Vagina)] อาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิตของแม่หรือเด็ก

ในปัจจุบันจะมีการผ่าท้องทำคลอดตามความประสงค์ของผู้ตั้งครรภ์มากขึ้น และเป็นที่นิยมแพร่หลาย อาทิ ในจีนการผ่าท้องทำคลอดมีสถิติสูงถึง 46% ของกรณีทำคลอด ส่วนประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีสถิติไม่ต่ำกว่า 25% และสหรัฐอเมริกาก็มีสถิติระหว่าง 25 – 30% แต่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) แนะนำว่าไม่ควรเกิน 15% ของกรณี

แม้จะมีข้อดีในแง่ประหยัดเวลา ขจัดภัยจากการผ่าตัดฝีเย็บ (Episiotomy) เพื่อให้คลอดง่ายขึ้น โดยเฉพาะทารกตัวโตน้ำหนักมาก และไม่ต้องกังวลการตั้งครรภ์เกินกำหนด (Overdue) แต่ก็มีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ (Fetus) มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ใช้เวลายาวนานกว่าในการฟื้นฟูร่างกาย (Recovery) หลังคลอด และความผูกพันธ์ที่ไม่สนิทชิดเชื้อระหว่างแม่กับทารกแรกเกิด

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Labor and Delivery : What to Expect. http://smartmomma.com/pregnancy/labor_delivery_what_to_expect.htm [2013, January 2].
  2. C-Sections Aplenty. http://smartmomma.com/pregnancy/c-sections%20aplenty.htm [2013, January 2].