ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 12 : ไปโรงพยาบาล – อย่างวางแผนหรือฉุกเฉิน

การไปโรงพยาบาล อาจเกิดได้ 2 กรณี ในกรณีแรกผู้ป่วยเป็นผู้เริ่มกระบวนการเอง เนื่องจากเกิดอาการไม่สบาย (อาทิ ปวดศีรษะ มีไข้ หรือเจ็บป่วย) หรือไปตรวจคัดกรอง (Screen) ตามปรกติ (อาทิ ตรวจสุขภาพประจำปี แล้วค้นพบความผิดปรกติ) หรือต้องการไปรับการทำหัตถการ (Procedure) ทางการแพทย์

ในกรณีที่ 2 แพทย์เป็นผู้กำหนดให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หลังการวินิจฉัยอาการ ซึ่งต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า (Pre-admission work-up) ผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลลครั้งแรกต้องกรอกเอกสารต่างๆ และเซ็นใบยินยอมล่วงหน้า (Advance directive) บางครั้งอาจแพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ (Laboratory) ก่อนเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ข้อมูลในการลงทะเบียน แบ่งเป็น 3 ประเภท อันได้แก่ ทะเบียนประวัติ (Profile) ผู้ป่วย ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และระบบประกันสุขภาพ บางกรณี โรงพยาบาลอาจให้กรอกแบบฟอร์มเพิ่มเติม อาทิ ใบยินยอมทางการแพทย์ (Medical directive) และใบมอบอำนาจในกรณีผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะตัดสินใจได้ตามปรกติ

ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็จะได้รับจากโรงพยาบาลซึ่งสำเนาสิทธิผู้ป่วย (Bill of Rights) และความรับผิดชอบของผู้ป่วย (Patient’s responsibilities) ในระหว่างพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจต้องทำพินัยกรรม (Living will) ระบุความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งกำลังเจ็บป่วยด้วยโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต (Life-threatening)

การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีการวางแผนล่วงหน้า อาจเกิดจากผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามคลินิก (Clinic) หลังการตรวจวินิจฉัยแล้ว แพทย์อาจส่งต่อ (Refer) หรือแนะนำให้ผู้ป่วยไปโรงพยาบาล แพทย์ประจำคลินิกอาจมีคนเดียว (Solo practice) หรือหลายคนทำงานร่วมกัน (Group practice) แต่มักมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialty)

ผู้ป่วยพบแพทย์ตามคลินิกเฉพาะทาง มักไม่ต้องมีการนัดล่วงหน้า (Non-appointment) จึงเหมาะสำหรับกรณีฉุกเฉินที่ไม่ร้ายแรง (Minor emergency) ในเวลาที่สะดวกสำหรับผู้ป่วย (อาทิ ตอนเย็นหรือสุดสัปดาห์) ณ สถานที่ที่ไม่ต้องเดินทางมากนัก (อาทิ ใกล้บ้าน) โดยที่ผู้ป่วยมักจ่ายค่าแพทย์และค่ารักษาพยาบาลเอง (Self-payment)

การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า มักเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่ผู้ป่วยถูกนำตัวมาส่งที่โรงพยาบาล แล้วเข้าห้องฉุกเฉิน (Emergency room : ER) ในหลายๆ กรณี มักเริ่มต้นกระบวนการด้วยแพทย์คนแรก (First responder) ประเมินความจำเป็นของผู้ป่วย แล้วให้การดูแลเฉพาะระหว่างที่ขนส่งผู้ป่วยไปยังห้องฉุกเฉิน

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลผ่านกระบวนการฉุกเฉิน แต่โรงพยาบาลยังต้องได้รับข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย เหมือนกระบวนการปรกติ อาทิ ประวัติการเจ็บป่วย การเซ็นเอกสารต่างๆ และระบบประกันสุขภาพที่ดูแลค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพียงแต่เวลาและการไหล (Flow) ของข้อมูล อาจยืดหยุ่นได้ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและระดับความฉุกเฉิน

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)