ปฏิบัติการในโรงพยาบาล จากมุมมองของผู้บริหาร
ตอนที่ 11 : โครงสร้างทีมงานในโรงพยาบาล

ทีมงานการแพทย์ (Medical staff) ในโรงพยาบาล คือ “หัวใจ” ของปฏิบัติการในโรงพยาบาล อันได้แก่ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีเทคนิค นักกายภาพบำบัด เป็นต้น และในบางกรณีอาจมีพันธมิตรนักวิชาชีพสุขภาพ (Allied health professionals) ที่ดูแลผู้ป่วยและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์

ทีมงานการแพทย์มีผลกระทบสูงสุด ต่อคุณภาพและปริมาณของบริการดูแลสุขภาพในโรงพยาบาล สมาชิกของทีมงานได้รับความไว้วางใจให้เยียวยาผ่าตัดผู้ป่วย บนพื้นฐานของระเบียบวิธีและปฏิบัติการทางการแพทย์ เชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific) และด้วยจริยธรรม (Ethical) โดยมีหัวหน้าทีม เป็นผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ (Chief Medical Officer : CMO)

หลังจากที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ตามกฎหมายและรับผิดชอบตามจริยธรรม ทีมงานการแพทย์มีอำนาจในการรับผู้ป่วยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ และดูแลปกครองกันเองในบางส่วน ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ เป็นผู้แต่งตั้งทีมงานการแพทย์ ซึ่งจะกำหนดนโยบาย กฎเกณฑ์ และข้อบังคับ ในการให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างมีมาตรฐาน ทีมงานดังกล่าวประกอบด้วยสมาชิกนักวิชาชีพที่มีอิสระในการปฏิบัติงานตามมาตรฐานของแต่ละสาขา

การสร้างความสัมพันธ์ในองค์กร ผ่านการประสานงานภายในกับทีมงานการแพทย์ และภายนอกกับทีมงานบริหาร (Administrative staff) และบุคลากรอื่นๆ ภายในโรงพยาบาล จึงเป็นสิ่งที่ท้าท้ายความสามารถของผู้มีอำนาจสูงสุดในองค์กร (Chief Executive Officer : CEO) หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาล (Hospital Director)

ทีมงานผู้บริหาร ประกอบด้วย CEO มีหน้าที่กำหนดทิศทางในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic direction) ของโรงพยาบาล และรับผิดชอบต่อปฏิบัติการทั่วทั้งโรงพยาบาล ผู้ดำรงตำแหน่งนี้อาจเป็นแพทย์ที่มีความสามารถทางด้านบริหารด้วย ดังที่เห็นในโรงพยาบาลไทยส่วนใหญ่ หรือผู้บริหารมืออาชีพ (Professional administrator) ดังที่เห็นในโรงพยาบาลอเมริกันส่วนใหญ่

สมาชิกในทีมงานบริหารยังประกอบด้วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ (Chief Operating Officer : COO) ซึ่งมักเป็นคนเดียวกับ CMO และผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer : CFO) ซึ่งมักจะรับผิดชอบระบบสารสนเทศ (Information systems) ของโรงพยาบาลไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Chief Human Resource Officer : CHRO) และ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด (Chief Sales & Marketing Officer : CSMO) ในกรณีโรงพยาบาลเอกชน และผู้อำนวยการฝ่ายบริการสังคม (Chief Social Service Officer : CSSO) ในกรณีโรงพยาบาลรัฐ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร (Not-for-profit hospital) อาทิ โรงพยาบาลในสังกัดศาสนา หรือมูลนิธิ

ผมขอเชิญชวนคุณผู้อ่านให้ (1) เขียนมาสอบถามเนื้อหาที่มีข้อสงสัย เพื่อความกระจ่างขึ้น (2) ชี้แนะข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งขาดตกบกพร่อง เพื่อการแก้ไขให้ถูกต้อง (3) แสดงความคิดเห็นในแต่ละตอน ทั้งติและชม เพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น และ (4) แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ของคุณผู้อ่าน เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนร่วมกัน ครับ

แหล่งข้อมูล:

  1. Griffin, Donald J. (2012). Hospitals : What They Are and How They Work (4th Ed). Sudbury, MA : Jones & Bartlett Learning
  2. ประสบการณ์จากเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มโรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลประสานมิตร (มูลนิธิ สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย) และศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ (โรงพยาบาลรามาธิบดี)