ปฏิบัติการกู้ชีพ รีบเร่งรับมือปีใหม่

นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับมืออุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2555 ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อลดความสูญเสีย โดยการรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักและเคารพระเบียบการจราจร โดยจัดบุคลากรกู้ชีพกว่า 100,000 คน รถปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องแล้วกว่า 10,000 คัน และเฮลิคอปเตอร์ปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งมีประมาณ 100 ลำ

ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ได้วางมาตรการเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความรวดเร็ว จึงได้สั่งการให้รถปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉินออกตระเวนโดยเน้นจุดเสี่ยงทั่ว ประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้ลดความกังวลขณะเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ และหากผู้ใดพบเห็นหรือต้องการขอความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง

ปฏิบัตการกู้ชีพฉุกเฉิน (Emergency medical services: EMS) คือหน่วยงานหนึ่งของการบริการฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล ที่ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ประสบภัยกรณีฉับพลัน และ/หรือ ขนย้ายผู้ป่วยที่ได้รับภัยและบาดเจ็บ หรือแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์

การใช้คำว่า “ปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน” อาจหมายถึงเพียงการดูแลผู้ป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล หรือเป็นส่วนหนึ่งของบูรณาการทั้งระบบในการดูแลผู้ป่วย (Integrated system of care) ซึ่งรวมทั้งการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล ปฏิบัติการดังกล่าวอาจรู้จักกันในชื่อต่างๆ กัน อาทิ หน่วยปฐมพยาบาล หน่วยฉุกเฉินเคลื่อนที่ หรือหน่วยกู้ชีพ

จุดประสงค์ของปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน ก็เพื่อให้การบำบัดรักษาแก่ผู้ป่วยอย่างรีบด่วน ในภาวะปัจจุบัน หรือจัดการขนย้ายผู้ป่วยให้ทันเวลา ไปยังจุดหมายถัดไปเพื่อให้ได้รับดูแลอย่างสมบูรณ์ (Definitive care) ซึ่งอาจเป็นแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือสถานที่ซึ่งมีแพทย์มารับช่วงในการดูแล

คำว่า “ปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน” สะท้อนถึงวิวัฒนาการจากระบบง่ายๆ ของหน่วยฉุกเฉินเคลื่อนที่ ซึ่งให้บริการขนย้ายผู้ป่วยเท่านั้น ไปยังระบบที่มีการดูแลผู้ป่วยทางการแพทย์ ณ จุดเกิดเหตุ และระหว่างขนย้ายผู้ป่วย ในหลายๆประเทศปฏิบัติการดังกล่าวมักเกิดจากเรียกใช้บริการของสาธารณชน ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน แล้วหน่วยงานปฏิบัติการก็จะส่งทรัพยากรที่เหมาะสมไปจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ในบางประเทศ ปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน รวมทั้งบทบาทของการขนย้ายผู้ป่วยจากสถานโรงพยาบาลแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง (ที่ให้บริการในระดับที่สูงขึ้นหรือเชี่ยวชาญกว่า) ด้วย ในกรณีเช่นนั้น ปฏิบัติการดังกล่าวมักมิได้เกิดจากเรียกใช้บริการของสาธารณชน แต่จากแพทย์หรือพยาบาลในสถานพยาบาลแห่งแรก

ส่วนความเชี่ยวชาญในสถานพยาบาลแห่งหลัง มักได้แก่หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤต (Neonatal intensive care: NICU) หน่วยดูแลเด็กวิกฤติ (Pediatric intensive care: PICU) ศูนย์แผลไหม้ (Burn center) ศูนย์ดูแลพิเศษการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง (Spinal injury) และ/หรือ ศัลยกรรมประสาท (Neurosurgery) ศูนย์โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ศูนย์โรคหัวใจ (Cardiac care หรือการสวนหัวใจ [Catherization]) และศูนย์พิเศษดูแลการบาดเจ็บร้ายแรง (Trauma)

บุคลากรของปฏิบัติกู้ชีพซึ่งรวมทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ช่วยแพทย์ (Paramedics) ต้องได้รับการฝึกอบรมเพื่อให้มีคุณสมบัติในระดับต่างๆกัน ตามแต่ละระบบของประเทศ ในบางประเทศ บุคลากรดังกล่าวต้องได้รับการรับรอง ตั้งแต่การขับรถพยาบาลฉุกเฉินที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมทางการพทย์ ไปจนถึงการฝึกอบรมอย่างน้อยของการปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน อาทิ การกู้ชีพขั้นต้น (Basic Life Support :BLS) และการกู้ชีพขั้นสูง (Advanced Life Support : ALS)

แหล่งข้อมูล:

  1. สพฉ.สั่งจัดทีมกู้ชีพทั่วประเทศ รับมือช่วงเทศกาลปีใหม่ http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540000157309&Keyword=%ca%d2%b8%d2%c3%b3%ca%d8%a2 [2011, December 14].
  2. Emergency medical services. http://en.wikipedia.org/wiki/Emergency_medical_services [2011, December 14].