บ้านหมุน (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

บ้านหมุน

อาการบ้านหมุนมักเกิดตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงในท่าทางของศีรษะ โดยคนที่มีอาการบ้านหมุนจะรู้สึกว่า รอบตัวหมุน (Spinning) เอียง (Tilting) โคลงเคลง (Swaying) และทรงตัวไม่ได้ (Unbalanced)

อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วม ได้แก่ รู้สึกคลื่นไส้ ตากระตุกหรือผิดปกติ (Nystagmus) ปวดศีรษะ เหงื่อแตก (Sweating) มีเสียงในหูหรือสูญเสียการได้ยิน

โดยอาการอาจจะเกิดเพียง 2-3 นาที หรือ 2-3 ชั่วโมง หรือมากกว่า และอาจเป็นๆ หายๆ

ในการตรวจวินิจฉัยอาการบ้านหมุน แพทย์จะซักประวัติถึงเหตุการณ์และอาการที่เป็น ยาที่เคยกิน การเจ็บป่วยที่ผ่านมา หลังจากนั้นจะมีการตรวจทางกายภาพ ซึ่งมักเป็นการตรวจร่างกายทางระบบประสาท (Neurologic exam) บางกรณีอาจมีการตรวจเอ็มอาร์ไอ หรือ ซีทีสแกน เพื่อตรวจดูสมองหรือหูชั้นใน การตรวจการทรงตัวด้วยเครื่อง Electronystagmography (ENG)

สำหรับการรักษาอาการบ้านหมุนนั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เป็น มีหลายรายที่อาการบ้านหมุนอาจหายไปโดยไม่ต้องรักษา ทั้งนี้เนื่องจากสมองสามารถปรับตัวเองให้รับกับการเปลี่ยนแปลงของหูชั้นในเพื่อทำให้เกิดการทรงตัวได้ ส่วนการรักษาอาจใช้

  • การฟื้นฟูระบบการทรงตัว (Vestibular rehabilitation / Cawthorne head exercises)) เพื่อส่งสัญญาณเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของศีรษะและร่างกายไปยังสมอง
  • การทำกายภาพบำบัดที่เรียกว่า Canalith repositioning maneuvers / Epley maneuvers ด้วยกรรมวิธีที่ให้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของศีรษะติดต่อกันเป็นชุด เพื่อให้ก้อน Canaliths หลุดกลับเข้าสู่ที่เดิม (เพราะ Canaliths ที่หลุดออกมา จะเคลื่อนตัวไปกระทบถูกปลายประสาท ทำให้เกิดมีคลื่นประสาทส่งไปยังสมอง เป็นสาเหตุให้เกิดอาการวิงเวียน และอาการอย่างอื่นๆ ตามมา) ซึ่งวิธีนี้ใช้รักษาได้ผลประมาณร้อยละ 90
  • การกินยาเพื่อลดอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้ ยาแก้อักเสบหรือยาปฏิชีวนะเพื่อลดการติดเชื้อ หรือยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ในกรณีที่เป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
  • การผ่าตัด (พบได้น้อย)

ในส่วนของการป้องกันอาการบ้านหมุนอาจทำได้ด้วยการควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง เช่น การรักษาระดับความดันโลหิต ระดับคลอเรสเตอรอล น้ำหนักตัว และระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เช่น การควบคุมปริมาณเกลือที่กิน สำหรับการดูแลตัวเอง สามารถทำได้ด้วยการ
  • ออกกำลังกายเบาๆ
  • นอนหนุนหมอนให้สูงเล็กน้อย
  • ลุกจากเตียงช้าๆ และนั่งที่ขอบเตียงสักครู่ก่อนยืนขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการก้มลงเก็บของ
  • หลีกเลี่ยงการยืดคอ เช่น การเอื้อมตัวหยิบของจากที่สูง
  • ทำกิจกรรมระหว่างวันด้วยการเคลื่อนศีรษะอย่างช้าๆ

แหล่งข้อมูล

1. Vertigo. http://www.webmd.com/brain/vertigo-symptoms-causes-treatment [2016, February 2].

2. Vertigo. http://www.medicinenet.com/vertigo_overview/article.htm[2016, February 2].

3. Vertigo. http://www.nhs.uk/conditions/Vertigo/pages/introduction.aspx[2016, February 2].