บาร์บิทอล (Barbital)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาบาร์บิทอล (Barbital) ยังรู้จักในชื่ออื่นอีก ได้แก่ Barbitone, Diethylmalonyl urea, และ Diethylbarbituric acid, ซึ่งยานี้เป็นอนุพันธ์ของกลุ่มยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate) ทางคลินิก นำมาใช้เป็นยานอนหลับ และยาช่วยสงบประสาท(ยาคลายเครียด) ยานี้ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยารับประทาน มีรสขมเล็กน้อย ตัวยาจะออกฤทธิ์ได้นาน โดยมีกลไกสงบประสาทที่สมอง และยานี้ถูกขับออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะ

หากใช้ยาบาร์บิทอลในขนาดสูง จะเกิดการกดกระบวนการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย อย่างเช่น กระบวนการหายใจ และหากใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดยาตามมา

ผู้ที่ป่วยด้วยอาการนอนไม่หลับ และแพทย์สั่งจ่ายยาบาร์บิทอลขนาด 0.25 หรือ 0.3 กรัม สามารถทำให้ผู้ป่วยนอนหลับโดยไม่มีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) เช่น ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้ แต่อย่างใด

ยาบาร์บิทอลมีข้อจำกัด และห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก

มีบางกรณีที่ยาบาร์บิทอลถูกใช้เป็นยาทางเลือกเพื่อบำบัดอาการปวดของโรคข้อรูมาตอยด์ หรือในผู้ที่อยู่ในภาวะตื่นเต้นหวาดกลัว ซึ่งหลังจากได้รับยานี้จะทำให้ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวสามารถนอนหลับได้ตลอดทั้งคืน

ในต่างประเทศ ได้ออกกฎหมายกำหนดให้ยาหลายตัวในกลุ่มยาบาร์บิทูเรตเป็นยาควบคุมที่รวมถึงยาบาร์บิทอลด้วย การใช้ยากลุ่มนี้จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น

สำหรับประเทศไทย จะไม่พบเห็นการใช้ยาชนิดนี้แล้ว แต่ในต่างประเทศ จะรู้จักยาบาร์บิทอลภายใต้ชื่อการค้าว่า “Veronal”

บาร์บิทอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

บาร์บิทอล

ยาบาร์บิทอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เป็นยาสงบประสาท(ยาคลายเครียด) ช่วยให้นอนหลับในที่สุด

บาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาบาร์บิทอลมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะกดการทำงานของกระแสประสาทในสมอง ส่งผลให้สงบประสาทและทำให้นอนหลับในที่สุด

บาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาบาร์บิทอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาชนิดรับประทานในลักษณะแคปซูล หรือยาผงบรรจุซอง

บาร์บิทอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาบาร์บิทอลมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 0.65 – 0.97 กรัม ก่อนนอน
  • เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก

*อนึ่ง:

  • การรับประทานยานี้เกินขนาด เช่น 3.5 – 4.4 กรัม/ครั้ง อาจทำให้เสียชีวิตได้จากการกดการหายใจจนเกิดระบบหายใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาบาร์บิทอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต มีอาการนอนกรน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาบาร์บิทอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

โดยทั่วไป หากลืมรับประทานยาบาร์บิทอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า

บาร์บิทอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาบาร์บิทอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ดังนี้ เช่น กดการหายใจ(หายใจ เบา ตื้น ช้า จนถึงขั้นหยุดหายใจ จนอาจเสียชีวิตได้) ง่วงนอนอย่างมาก และอาจเกิดการติดยา

มีข้อควรระวังการใช้บาร์บิทอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาบาร์บิทอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnoea)
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ ด้วยยานี้สามารถก่อความผิดปกติกับทารกในครรภ์ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมมารดาและส่งผลกดการหายใจต่อทารกได้
  • ระวังการใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ด้วยสามารถทำให้เกิดภาวะติดยาได้
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาบาร์บิทอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

บาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาบาร์บิทอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาบาร์บิทอลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ด้วยจะ ก่อให้เกิดผลข้างเคียงติดตามมา เช่น วิงเวียน ง่วงนอน และมีการกดการหายใจ อย่างมาก
  • การใช้ยาบาร์บิทอลร่วมกับยาบางกลุ่ม สามารถเพิ่มฤทธิ์ในการกดการทำงานของประสาทส่วนกลาง จนเกิดอันตรายได้ เช่น ยาแก้หวัด ยาแก้แพ้ ยารักษาโรค หืด ยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรคลมชัก หากไม่ความจำเป็นใดๆ ควรเลี่ยงการใช้ยาบาร์บิทอลร่วมกับยากลุ่มดังกล่าว

ควรเก็บรักษาบาร์บิทอลอย่างไร?

ควรเก็บยาบาร์บิทอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

บาร์บิทอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ปัจจุบัน ยาบาร์บิทอลไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย แต่ยานี้ยังมีจำหน่ายในต่างประเทศ โดยมียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Medinal (เมดินอล)Schering
Veronal (เวโรนอล)Bayer

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2353438/pdf/brmedj08159-0010b.pdf [2016,Dec31]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Barbital [2016,Dec31]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB01483 [2016,Dec31]
  4. https://books.google.co.th/books?id=qoyYobgX0uwC&pg=PA197&lpg=PA197&dq=barbitone+capsule&source=bl&ots=Y8AEc50nrm&sig=ZvkBYJIcBTb-atdwY-n_sz-ahHs&hl=en&sa=X&ved=0ahUKEwiVgZGbmOfQAhUDmpQKHfL_AEwQ6AEIMTAD#v=onepage&q=barbitone%20capsule&f=false [2016,Dec31]
  5. http://owndoc.com/side_effects/narcotics/barbital/ [2016,Dec31]