บาดทะยัก (Tetanus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคบาดทะยัก (Tetanus) เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง คำว่า Tetanus มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกคือ Teinein ซึ่งแปลว่า ‘ยืดออก’ ที่เรียกเช่นนี้ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีการหดตัวและแข็งเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นทั่วตัว โดยที่ทำให้แผ่นหลังมีการยืดตัวออก ซึ่งเป็นท่าทางที่เป็นรูปแบบเฉพาะ ทั้งนี้ แบคทีเรียที่ก่อโรคนี้ชื่อว่า Clostridium tetani ซึ่งความสำคัญของโรคนี้คือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีโอกาสตายได้ และคนที่เคยเป็นโรคนี้ครั้งหนึ่งแล้ว สามารถเป็นได้อีก แต่โรคนี้มีวัคซีนฉีดป้องกันได้ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความ เรื่องวัคซีนบาดทะยักชนิดอิมมูโนโกลบูลิน และเรื่อง วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ )

อะไรคือสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของโรคบาดทะยัก?

บาดทะยัก

เชื้อบาดทะยัก เป็นเชื้อแบคทีเรียรูปแท่งที่ปลายมีสปอร์/Spore (จุดที่พักตัวของแบคที เรียเพื่อรอการเจริญเติบโตเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม) ทำให้มีรูปร่างเหมือนไม้เทนนิส หรือไม้ตีกลอง

เชื้อโรคบาดทะยักนี้ พบได้ทั่วทุกมุมโลก โดยเชื้อว่า อาศัยอยู่ในดิน ปุ๋ยคอก มูลสัตว์ ฝุ่น รวมทั้งผิวหนังและอุจจาระคน

ตัวเชื้อบาดทะยัก ถูกทำลายได้ง่ายด้วยความร้อน แต่สปอร์ของเชื้อมีความทนทาน สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมได้นานหลายปี ทนต่อน้ำเดือดได้นานถึง 20 นาที และทนต่อสารเคมีและยาฆ่าเชื้อต่างๆ

ติดเชื้อบาดทะยักได้อย่างไร?

เชื้อบาดทะยักสามารถเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคได้หลายทาง คือ

  • ผ่านทางแผลสด: โดยส่วนใหญ่จะเป็นแผลขนาดเล็กๆแต่ลึก เช่น แผลจากตะปู หรือเศษไม้ตำ แผลอื่นๆ เช่น แผลถูกสัตว์กัด แผลถลอก แผลฉีกขาด แผลถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวก หรือแม้แต่แผลผ่าตัดก็พบได้ ถ้าระบบปลอดเชื้อของห้องผ่าตัดไม่มาตรฐาน หรือการดูแลแผลผ่าตัดที่ไม่สะอาด รวมทั้งแผลจากการถอนฟัน รักษารากฟัน ก็มีโอกาสติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน
  • ผ่านทางแผลเรื้อรัง: เช่นแผลเบาหวาน และแผลเป็นฝี
  • ผ่านทางการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน: พบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด หรือการสักลาย (Tattoo)
  • ผ่านทางสายสะดือในเด็กแรกคลอด: เกิดจากมารดาที่ไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก และการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือเด็ก
  • จากการเป็นโรคหูชั้นกลางอักเสบ
  • มีบางกรณีที่ไม่พบสาเหตุว่า เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านทางไหน

เชื้อบาดทะยักก่อโรคได้อย่างไร?

เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะอยู่บริเวณเนื้อเยื่อที่เชื้อโรคเข้าไปก่อน เมื่อมีสภาวะที่เหมาะสมคือไม่มีออกซิเจน สปอร์ของเชื้อโรคก็จะงอก และผลิตสารพิษออกมา 2 ชนิด คือ ชนิดเตตาโนลัยซิน (Tetanolysin) ซึ่งยังไม่ทราบบทบาทที่ชัดเจนของสารพิษตัวนี้ และชนิดที่มีบทบาททำให้เกิดโรคชื่อว่า เตตาโนสะปาสมิน (Tetanospasmin) สารพิษชนิดนี้ถ้าเทียบโดยน้ำหนักแล้ว ถือว่าเป็นสารพิษที่มีพิษรุนแรงมาก เพราะปริมาณเพียงแค่ 2.5 นาโนกรัม (1 ล้านนาโนกรัมคือ 1 กรัม) ต่อน้ำหนักคน 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดโรคได้ เมื่อเชื้อโรคผลิตสารพิษแล้ว สารพิษก็จะเข้าสู่กระแสเลือด กระจายเข้าสู่เส้นประสาทส่วนปลาย แล้วเดินทางจากเส้นประสาทส่วนปลายเข้าสู่ไขสันหลัง และในที่สุดก็เข้าสู่สมอง ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงได้

สารพิษ เตตาโนสะปาสมิน จะเข้าขัดขวางการทำงานของเซลล์ประสาทที่อยู่ในไขสันหลังและสมอง ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เซลล์ประสาทสั่งการทำงานมากเกินไป และสมองควบคุมไม่ได้ จึงทำให้กล้ามเนื้อมีการแข็งเกร็งและหดตัวมากเกินไป

โรคบาดทะยักมีอาการอย่างไร?

โรคบาดทะยัก มีระยะฟักตัวคือ ตั้งแต่ได้รับเชื้อโรคจนกระทั่งเกิดอาการประมาณ 8 วัน(อยู่ในช่วง 3 - 21 วัน) ผู้ป่วยที่ติดเชื้อบาดทะยัก จะมีอาการแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่เกิดอาการทั่วร่างกาย: เป็นกลุ่มที่พบมากที่สุด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ซึ่งไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆที่มักมีไข้

  • โดยเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อบริเวณกรามแข็งเกร็ง อ้าปากได้ยากเรียกว่า ทริสมัส (Trismus) เกิดอาการกลืนลำบาก ต่อมา กล้าม เนื้อบริเวณคอ ไหล่ และหลัง จะแข็งเกร็ง ทำให้มีอาการปวด และในที่สุดกล้ามเนื้อทั่วตัวก็จะแข็งเกร็งและมีการหดตัวเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีท่าทางที่จำเพาะ เช่น
    • การที่กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้ามีการหดตัวและแข็งเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยแสดงสีหน้าที่ดูเหมือนกำลังแสยะยิ้ม มีชื่อเฉพาะเรียกว่า ไรสัส ซาร์โดนิคัส (Risus sardonicus)
    • ส่วนการที่กล้ามเนื้อหลังหดตัวและแข็งเกร็ง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหงายตัวออก กล้ามเนื้อขาเหยียดตึงไปด้านหลัง (คล้ายทำท่าสะพานโค้ง) และกล้ามเนื้อแขนงอและบิดออกพร้อมกับกำหมัด ท่านี้มีชื่อเฉพาะเรียกว่า โอปีสโธโทนัส (Opisthotonus)
  • การหดเกร็งของกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นเป็นพักๆเพียงช่วงสั้นๆ โดยมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อยเป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดการหดเกร็งขึ้นมา เช่น เสียงดัง การสัมผัสตัว ในขณะที่มีการหดตัวและแข้งเกร็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นนั้น การรับรู้สัมผัสและความรู้สึกตัวของผู้ป่วยจะปกติทุกอย่าง (ซึ่งไม่เหมือนกับผู้ป่วยโรคลมชักที่จะไม่รู้สึกตัว)
    • ถ้าอาการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นยาวนาน จะทำให้หายใจได้ลำบาก ผู้ป่วยจะขาดอากาศและตัวเขียว
    • ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการที่รุนแรง คือกล้ามเนื้อทั้งตัวหดตัวและแข็งเกร็งอย่างรุนแรงพร้อมๆกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความเจ็บปวดแสนสาหัส และทำให้กล้ามเนื้อที่ช่วยการหายใจทำหน้าที่ตามปกติไม่ได้ หลอดลมหดเกร็ง เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด
  • ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ (ระบบประสาทที่ทำงานโดยไม่ผ่านสมอง เช่น การบีบตัวของลำไส้) ผิดปกติร่วมด้วย เช่น
    • ความดันโลหิตสูง
    • หลอดเลือดแขน/ขาหดตัว
    • หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะ
    • อาจเกิดหัวใจหยุดเต้น
    • มีไข้สูงมาก
    • และ/หรือ เหงื่อออกทั่วตัว

ทั้งนี้ โรคในกลุ่มเกิดอาการทั่วร่างกายนี้ มีอัตราเสียชีวิตประมาณ 4 - 30% ขึ้นกับได้รับเชื้อในปริมาณน้อยหรือมาก และอายุ โดยในผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป โอกาสเสียชีวิตจะสูง

2. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่: ผู้ป่วยในกลุ่มนี้พบได้ค่อนข้างน้อย อาการจะมีแค่การหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณใกล้แผลเท่านั้น พิษของเชื้อไม่ลุกลามเข้าสู่ สมอง และไขสันหลัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโรคไม่รุนแรง อัตราเสียชีวิตประมาณ 1%

3. กลุ่มที่เกิดอาการแบบเฉพาะที่ศีรษะ: เป็นกลุ่มที่พบได้น้อยมากมาก เกิดจากผู้ป่วยมีอุบัติเหตุที่ศีรษะ หรือมีการติดเชื้ออักเสบของหูชั้นกลาง พิษของเชื้อจะเข้าสู่เส้นประสาทบริเวณใบหน้า และอาจลุกลามเข้าสู่สมอง ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูง

*อนึ่ง บาดทะยักในเด็กแรกเกิด ซึ่งเกิดจากการใช้เครื่องมือที่ไม่สะอาดตัดสายสะดือประ กอบกับมารดาไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยักฯ จึงไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะส่งต่อให้ลูกได้ อาการคือ หลังคลอดได้ประมาณ 7 วัน เด็กทารกจะไม่ค่อยดูดนม งอแง และมีการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง เด็กมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า 90%

แพทย์วินิจฉัยโรคบาดทะยักได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคบาดทะยักได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย โดยใช้อาการเป็นหลักสำคัญ รวมทั้งประวัติการมีบาดแผลตามร่างกาย และประวัติการได้รับวัคซีนบาดทะยัก ซึ่งในบุคคลที่เคยได้รับวัคซีนฯครบ และได้รับวัคซีนฯกระตุ้นตามกำหนด ก็จะไม่มีโอกาสเป็นโรคบาดทะยัก
  • การตรวจร่างกาย
  • สำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่มีการตรวจที่จำเพาะกับโรคนี้ การตรวจจะเป็นเพียงเพื่อแยกโรคอื่นๆที่อาจมีอาการคล้ายกัน เช่น
    • การตรวจหาสารพิษสตริกนีน (Strychnine): ผู้ป่วยที่ได้รับพิษ Strychnine ซึ่งอยู่ในยาฆ่าแมลง จะมีอาการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อคล้ายกับผู้ป่วยที่เป็นบาดทะยัก ถ้าประวัติการได้รับสารพิษของผู้ป่วยไม่ชัดเจน ก็ต้องเจาะตรวจหาสารพิษชนิดนี้ด้วย
    • การตรวจเม็ดเลือดขาวจากเลือด (การตรวจซีบีซี) ส่วนใหญ่จะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เหมือนโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆที่มักมีปริมาณเม็ดเลือดขาวขึ้นสูง
    • การตรวจน้ำไขสันหลัง/การเจาะหลัง จะพบว่าปกติ ซึ่งแตกต่างจากโรคติดเชื้ออื่นๆที่ทำให้มีไขสันหลังอักเสบ และ/หรือ สมองอักเสบ ที่ทำให้มีอาการชักเกร็งคล้ายคลึงกัน

*อนึ่ง การเพาะเชื้อไม่ช่วยในการวินิจฉัย เพราะผิวหนังปกติของคนเราก็มีเชื้อบาดทะยักเจริญอยู่ได้ (ตราบใดที่เราไม่มีบาดแผล และได้รับการฉีดวัคซีนฯครบ ก็จะไม่เป็นบาดทะยัก)

รักษาโรคบาดทะยักได้อย่างไร?

หลักของการรักษาโรคบาดทะยัก คือ เพื่อกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ, เพื่อทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว, และการรักษาประคับประคองตามอาการ, รวมทั้งการให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเกิดโรคอีก

ก. การกำจัดเชื้อบาดทะยักที่ผลิตสารพิษ: โดย

  • การให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคและสปอร์ของเชื้อที่กำลังงอก
  • ถ้าผู้ป่วยมีบาดแผลที่ยังไม่หายดี ก็จะเปิดปากแผลให้กว้าง ล้างทำความสะอาดแผลให้สะอาด และตัดเนื้อเยื่อที่ตายแล้วออก เพื่อเป็นการลดปริมาณเชื้อโรคที่อยู่ในบาดแผล

ข. การทำลายสารพิษที่เชื้อโรคผลิตแล้ว: ซึ่งจะช่วยลดอัตราการตายได้มาก โดยการให้สารภูมิต้านทานหรือแอนติบอดี (Antibody) ไปทำลายสารพิษ ซึ่งสารภูมิต้านทาน อาจได้จากน้ำเหลืองของม้าหรือของคน (Equine tetanus antitoxin หรือ Human tetanus immunoglobulin) ซึ่งแอนติบอดีที่ไปทำลายสารพิษนี้จะทำลายเฉพาะสารพิษที่อยู่ในกระแสเลือดเท่านั้น ไม่สามารถทำลายสารพิษที่เข้าสู่เส้นประสาทไปแล้วได้

ค. การรักษาตามอาการ : ได้แก่

  • การให้ยาเพื่อลดการหดตัวและแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งมียาอยู่หลายกลุ่ม ในกรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผล ผู้ป่วยยังมีอาการหดเกร็งมาก เสี่ยงต่อภาวะหายใจล้มเหลว อาจจะพิจารณาให้ยาที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตทั้งตัว แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจไว้หายใจแทน
  • ผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น
    • มีความดันโลหิตขึ้นสูงมากก็ให้ยาควบคุมความดันโลหิตสูง / ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง
    • ถ้ามีอาการหัวใจเต้นช้า หรือหัวใจหยุดเต้น ก็อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ

ง. การให้วัคซีนบาดทะยัก: ผู้ป่วยทุกรายที่หายจากโรคบาดทะยักแล้ว ต้องให้วัคซีนฯตามกำหนดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อบาดทะยักไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคนี้ขึ้นมาได้

มีผลข้างเคียงจากโรคบาดทะยักไหม? โรคบาดทะยักรุนแรงไหม?

ผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนที่พบได้จากโรคบาดทะยัก คือ

  • ในช่วงที่กล้ามเนื้อมีการหดตัวและแข็งเกร็งนั้น ผู้ป่วยจะเจ็บปวดมาก ถ้ากล้ามเนื้อหดตัวรุนแรงมาก อาจทำให้กระดูกหักได้ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกสันหลังหรือกระดูกแขนขา
  • นอกจากกล้ามเนื้อจะมีการหดตัวและแข็งเกร็งแล้ว เส้นเสียง/สายเสียง หลอดลม ก็อาจมีการหดตัว ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่เข้า ขาดอากาศเสียชีวิตได้
  • การเกิดระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติขึ้นมา เป็นผลแทรกซ้อนที่สำคัญที่มักจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะควบคุมได้ค่อนข้างยาก ได้แก่ ความดันโลหิตขึ้นสูงมากผิดปกติ หัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งเป็นได้ทั้งแบบช้าและแบบเร็ว และหัวใจหยุดเต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่ การเกิดลิ่มเลือดของหลอดเลือดในปอด/สิ่งหลุดอุดหลอดเลือดปอด และปอดติดเชื้อ/ปอดบวมแทรกซ้อน

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยจะมีอาการอยู่ 3 - 4 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาจมีอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ และอาจมีอาการหดตัวเล็กๆน้อยๆที่ไม่รุนแรง อยู่ได้นานต่อไปอีกหลายเดือน แต่ในที่สุดก็จะหายเป็นปกติ
  • ส่วนผู้ป่วยเด็กทารกที่สามารถมีชีวิตรอดจากโรคบาดทะยักได้ ก็มักมีปัญหาด้านการเจริญ เติบโตและสติปัญญา

ป้องกันโรคบาดทะยักได้อย่างไร?

สามารถป้องกันโรคบาดทะยักได้ดังนี้ คือ โรคนี้มีวัคซีนป้องกัน โดยวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ถูกผลิตและใช้เป็นผลสำเร็จในทหารตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาวัคซีนชนิดนี้ได้ถูกพัฒนาให้อยู่ในรูปของ ‘วัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก’ และอาจเป็นแบบวัคซีนรวมอื่นๆ

ทั่วไป ตารางการฉีดวัคซีนบาดทะยัก ได้แก่

  • ในเด็กเล็ก ต้องได้รับการฉีดวัคซีนที่อายุ 2 เดือน, 4 เดือน, 6 เดือน, และ 15 - 18 เดือน ในรูปของวัคซีนรวม คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก(วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์+วัคซีนคอตีบ+วัคซีนไอกรน รวมอยู่ในเข็มเดียวกัน)
  • หลังจากนั้นเมื่ออายุได้ 4 - 6 ปี ก็ให้ฉีดวัคซีนรวมนี้กระตุ้นอีก 1 ครั้ง
  • พออายุได้ 11 - 12 ปี ก็ให้วัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ - คอตีบ กระตุ้นอีก 1 เข็ม
  • หลังจากนั้น ก็ให้ฉีดวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์ - คอตีบ กระตุ้นทุกๆ 10 ปี สาเหตุที่ต้องฉีดทุกๆ 10 ปีนั้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคจะค่อยๆลดไปเรื่อยๆตามกาลเวลา และอาจไม่พอที่จะป้องกันโรคเมื่อได้รับสารพิษของเชื้อบาดทะยัก
  • สำหรับในเด็กที่อายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป และในผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือได้รับวัคซีนในวัยเด็กไม่ครบ หรือได้รับมาเกิน 10 ปีแล้ว ให้ฉีดวัคซีน บาดทะยัก + คอตีบ 3 เข็ม, โดยฉีดเข็มที่ 2 ให้ห่างจากเข็มแรกประมาณ 4 สัปดาห์, เข็มที่ 3 ให้ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 6 -12 เดือน, หลังจากนั้น ฉีดกระตุ้นๆทุกๆ 10 ปีตลอดไป
  • หากฉีดวัคซีนกระตุ้น บาดทะยัก - คอตีบ ถี่เกินไป คือน้อยกว่าทุก 10 ปี อาจทำให้มีอาการปวดบริเวณที่ฉีดมาก มีอาการบวมแดงที่อาจเกิดทั้งแขนที่ฉีดก็ได้ แต่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคบาดทะยัก
  • หญิงตั้งครรภ์ทุกราย ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนบาดทะยัก หรือประวัติการได้รับวัคซีนฯไม่ชัดเจน หรือได้รับวัคซีนฯเข็มสุดท้ายเกิน 10 ปีมาแล้ว ควรต้องได้รับการฉีดวัคซีนนี้

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีบาดแผลเกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดตรงตำแหน่งไหนหรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ดังนี้

  • ในกรณีที่แผลมีขนาดเล็ก แผลสะอาด เช่น แผลถูกตะปูตำ หนามตำ มีดในบ้านบาด ถ้าไม่เคยได้รับวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์มาก่อน หรือฉีดวัคซีนฯเข็มสุดท้ายมานานกว่า 10 ปี ต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนบาดทะยัก
  • ในกรณีที่แผลนั้นมีขนาดใหญ่หรือค่อนข้างสกปรก เช่น แผลจากอุบัติเหตุรถชน โดนเศษแก้วจากกองขยะบาด แผลสัตว์กัด
    • ถ้าฉีดวัคซีนฯมาครบตามกำหนด แต่ฉีดวัคซีนฯเข็มสุดท้ายมานานกว่า 5 ปี ต้องพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อฉีดวัคซีนบาดทะยัก
    • ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบตามกำหนด นอกจากจะต้องฉีดวัคซีนบาดทะยักแล้ว ต้องให้แอนติบอดี/สารภูมิต้านทานเพื่อไปทำลายพิษด้วย

*อนึ่ง อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สปอร์ของเชื้อบาดทะยักทนทานต่อสารเคมีหลายชนิด รวมทั้งยาฆ่าเชื้อด้วย ดังนั้นการล้างแผลเองด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือ เบตาดีน ไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคที่บาดแผลให้หมดไปได้ การฉีดวัคซีนบาดทะยักท็อกซอยด์จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องกระทำ

บรรณานุกรม

1. Elias Abrutyn, tetanus, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 15th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2001
2. http://emedicine.medscape.com/article/229594-overview#showall [2020, May2]
3. https://www.cdc.gov/vaccines/vpd/tetanus/index.html[2020, May2]