บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 26: อยากรักษากับหมอคนเดิม

บอกเล่าเก้าสิบ

ปัจจุบันระบบสุขภาพของประเทศไทยจัดว่าเป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดีประเทศหนึ่งในโลกนี้ คือ คนไทยทุกคนจะได้รับการดูแล 1 ใน 3 สิทธิการรักษา คือ 1. ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 2. ระบบประกันสังคม และ 3. ระบบข้าราชการ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงระบบการรักษาได้เป็นอย่างดี และลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนไปอย่างมาก แต่ก่อนใครไม่มีเงินก็ต้องเป็นหนี้เป็นสิ้น บางครอบครัวล้มละลายเลยก็มี อย่างไรก็ดีก็ยังมีคนในประเทศไทยบางส่วนที่ไม่มีบัตรประชาชน เพราะไม่ใช่คนไทยแต่กำเนิด หรือที่เรียกว่าเป็นคนต่างด้าว ก็จะไม่มีสิทธิ์การรักษา

ผมมีผู้ป่วยเป็นชาวต่างด้าวไม่มิสิทธิ์การรักษาใดๆ เจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ไตเสื่อม เลือดจาง หลอดเลือดดำที่ขาอุดตันมาพบผมที่คลินิก ผมก็ได้แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลของรัฐ ผู้ป่วยก็ไปพบตามที่ผมแนะนำ แต่ไปเพียงครั้งเดียวก็กลับมาหาผมที่คลินิกอีก เพราะว่าเสียค่าใช้จ่ายหลายพันบาท ก็เพราะว่าต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการหลายอย่าง ผู้ป่วยบอกว่าแพงมากรักษาที่โรงพยาบาลและไม่มีสิทธิ์รักษาพยาบาลใดๆ

ผมก็ย้ำกับผู้ป่วยว่าต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะอาการแบบนี้ไม่สามารถรักษาได้ที่คลินิก ส่วนเรื่องสิทธิ์การรักษาผมจะประสานงานกับทางแผนกสังคมสงเคราะห์เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ป่วยรายได้น้อย ซึ่งก็เรียบร้อยดี ผู้ป่วยก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ประมาณ 3 เดือน แล้วก็กลับมาหาผมที่คลินิกอีก

“คุณยายทำไมกลับมาหาผมอีกแล้วหละครับ ผมอุตสาห์จัดการเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยรายได้น้อยเรียบร้อยแล้ว รักษาก็ไม่เสียเงินแล้ว รักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังไม่ดีอีกเหรอครับ” คุณยายก็บอกผมว่า “ยายก็ต้องขอบคุณหมอที่ช่วยให้ยายในหลายๆ เรื่อง แต่พอยายไปรักษาที่โรงพยาบาล หมอที่พบก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนไปทุกครั้ง ไม่เคยพบหมอคนเดิมเลย ยายก็เลยไม่สบายใจ ยายอยากรักษากับหมอคนเดิม”

ผมก็ต้องอธิบายให้ยายฟังว่าระบบการรักษาในโรงเรียนแพทย์นั้นจะมีคุณหมอที่มาศึกษาต่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจรักษาผู้ป่วยภายใต้การควบคุมจากอาจารย์แพทย์ ดังนั้น การที่ยายไปพบหมอแล้วเปลี่ยนทุกครั้งก็เพราะคุณหมอก็จะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกเดือน แต่อาจารย์แพทย์ก็จะเป็นผู้ควบคุมการรักษาทั้งหมด ให้ยายสบายใจได้ครับ