บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 22: ไม่มั่นใจ ไม่ไว้ใจ

บอกเล่าเก้าสิบ

แต่ละวันผมออกตรวจผู้ป่วยที่แผนกผู้ป่วยนอก ผมจะมีผู้ป่วยประมาณ 60 คน ต่อ 3 ชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าว่าไม่มากเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัด แต่สำหรับโรงเรียนแพทย์ก็ถือว่ามากพอควร ที่น่าสนใจคือ ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งเป็นผู้ป่วยที่สามารถรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านก็ได้ แต่ด้วยหลายๆ เหตุผล ผู้ป่วยจึงไม่ยอมรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน ดังเรื่องที่ผมจะบอกเล่าต่อไปนี้

“คุณลุงครับ ตอนนี้อาการของคุณลุงปกติดีแล้วนะครับ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันสูงและอัมพาตก็ปกติดีหมด ยาที่ผมให้คุณลุงโรงพยาบาลใกล้บ้านก็มี ผมอยากถามคุณลุงว่า คุณลุงอยากรักษาใกล้บ้านหรือไม่ครับ จะได้ไม่ต้องเดินทางไกล ดีหรือเปล่าคุณลุง” ปรากฏว่าคุณลุงปฏิเสธเสียงแข็งว่าอย่างไรก็จะรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์กับคุณหมอต่อ เพราะเป็นคนที่รักษาให้ลุงหายดี

เหตุผลที่คุณลุงไม่ยอมกลับไปรักษาโรงพยาบาลใกล้บ้าน คือ

  1. โรงพยาบาลใกล้บ้านที่รักษาตอนแรกนั้นไม่สามารถวินิจฉัยโรคคุณลุงได้ จึงไม่ไว้ใจว่าจะรักษาต่อได้หรือไม่
  2. ไม่ไว้ใจหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะไม่ใช่หมอเชี่ยวชาญเฉพาะโรค
  3. ยาไม่เหมือนกัน ถึงแม้หมอจะยืนยันว่าเป็นชนิดเดียวกัน แต่เนื่องจากเม็ด รูปร่าง สีคนละแบบกัน จึงไม่เชื่อว่าเหมือนกัน
  4. ขอให้โรงพยาบาลใกล้บ้านส่งตัวมารักษาแล้ว จะกลับไปโรงพยาบาลเดิมได้อย่างไร เพราะตอนแรกขอเขามาแล้ว

เมื่อผมทราบเหตุผลทั้งหมดแล้ว ก็พยายามอธิบายให้คุณลุงและครอบครัวฟังทีละข้อ ทีละข้อ แต่ก็ไม่สำเร็จครับ คุณลุงก็ยังคงรักษาอยู่กับผมมาถึงปัจจุบัน

ผมอยากฝากไปยังผู้อ่านทุกท่านว่า การรักษาที่ดีที่สุดในกรณีเป็นโรคเรื้อรังนั้น คือ การรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลจังหวัดใกล้บ้านก็มีศักยภาพในการรักษาไม่แตกต่างกับโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ และยิ่งในปัจจุบันการรักษาจะยึดตามแนวทางเวชปฏิบัติ ซึ่งจะมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศยิ่งทำให้การรักษาในโรงพยาบาลต่างๆ นั้นไม่แตกต่างกัน