บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 2 ความเกรงใจ

บอกเล่าเก้าสิบ

เราคงได้ยินคำพูดที่ว่า “ความเกรงใจเป็นสมบัติของผู้ดี” ความเกรงใจก็เป็นสิ่งที่ดีจริงๆ ครับ แต่บางครั้งเมื่อเรามีข้อสงสัยก็ต้องสอบถาม สิ่งนี้อาจเป็นข้อด้อยที่พบได้บ่อยๆ ในสังคมไทย คือ ไม่ค่อยมีการสอบถาม ไม่ว่าจะเข้าใจดีหรือไม่เข้าใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยเมื่อมาพบแพทย์ก็จะไม่กล้าถามหมอเลย เพราะเกรงใจและกลัวแพทย์ต่อว่า หาว่ายุ่งไม่ไว้ใจแพทย์หรือยังไหรจึงถามแพทย์ จึงเกิดปัญหาขึ้นเมื่อกลับไปถึงบ้าน เรื่องราวที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อจากนี้ คือ ปัญหาที่เกิดจากความเกรงใจ

ผู้ป่วยชายอาชีพข้าราชการ ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือด ทานยาแอสไพริน (aspirin) และซีลอสตาซอล (cilostazol) หลังทานยามีอาการปวดศีรษะและรู้สึกเหนื่อยง่าย ใจเต้นเร็วขึ้นเป็น 100 ครั้ง/นาที แต่ไม่กล้าบอกหมอ ได้ไปปรึกษาเพื่อนๆ ที่เป็นโรคเดียวกัน เห็นเพื่อนทานยาคลอพิโดเกล (clopidogrel) จึงไปขอยาเพื่อนมาทาน ผลปรากฏว่าอาการปวดศีรษะและใจสั่นลดลงและหายเป็นปกติ พอถึงวันนัดเดิมกับหมอจึงไม่กล้ามาพบ เนื่องจากเกรงใจและกลัวว่าหมอจะต่อว่าที่หยุดยาที่หมอสั่งและไปทานยาชนิดอื่นเอง

ผู้ป่วยได้ไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อที่ต้องการรักษาต่อเนื่องและรับยาคลอพิโดเกล ปรากฏว่าหมอที่ไปพบกลับกลายเป็นหมอคนเดียวกับหมอที่โรงพยาบาลแรก ผู้ป่วยตกใจมากเมื่อพบหมอคนเดียวกัน จึงได้เล่าให้หมอฟังทั้งหมด แล้วก็พูดประโยคสุดท้ายว่า “อย่าโกรธผมเลยนะครับคุณหมอ ผมเกรงใจคุณหมอมาก ไม่ใช่คุณหมอรักษาไม่ดีนะครับ คุณหมอดูแลผมดีมาก ผมเองที่ผิดไม่กินยาที่คุณหมอให้ แต่ไปเปลี่ยนยาเองเพราะมันปวดหัวและใจสั่นมาก ทนอาการดังกล่าวไม่ได้ เมื่อผมเปลี่ยนยาเองก็เลยไม่กล้าไปพบคุณหมอ เกรงใจมากๆ ครับ แต่ก็หนีคุณหมอไม่พ้น มาพบกันที่โรงพยาบาลเอกชนอีก ผมจะรักษากับคุณหมอต่อได้ไหมครับ”

ผมรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของผู้ป่วยเลยนะครับ ผมก็เลยตอบไปว่า “ผมยินดีมากๆ เลยครับที่คุณน้าต้องการให้ผมรักษาต่ออีก ผมเสียอีกที่ต้องเป็นผู้ขอโทษ ผมขอโทษด้วยนะครับที่สั่งยาให้แล้วมีอาการข้างเคียง ผมเป็นคนผิดเองครับ ไม่ใช่คุณน้า ผู้ป่วยทุกคนต้องได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ถ้าหมอสั่งยาแล้วเกิดอาการข้างเคียง ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมครับ”

ผมได้เรียนรู้จากเรื่องนี้ว่าต่อจากนี้ไป เมื่อสั่งยาหรือให้คำแนะนำการรักษาใดๆ ต่อผู้ป่วย ต้องบอกผู้ป่วยด้วยว่าถ้ามีอาการข้างเคียงใดๆ ให้บอกหมอได้ ไม่ต้องเกรงใจ เพื่อที่หมอจะได้ปรับการรักษาให้ดีที่สุดครับ