บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 19: ทุกข์หรือไม่ทุกข์

บอกเล่าเก้าสิบ

ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ แต่ทุกคนก็มีโอกาสเป็นโรคภัยไข้เจ็บได้ สำคัญอยู่ที่ว่าถ้าเราเจ็บป่วยแล้วเราจะอยู่กับโรคอย่างไม่ทุกข์ได้อย่างไร คนไข้ส่วนใหญ่จะทุกข์เมื่อทราบว่าตนเองเป็นโรคที่ต้องรักษาต่อเนื่อง บางคนทุกข์มาก บางคนทุกข์น้อย ทำไมจึงต่างกัน

“หมอครับ ภรรยาผมจะหายหรือเปล่า จะชักอีกหรือไม่ จะเป็นอะไรมากหรือไม่ เราจะมีลูกได้หรือเปล่า พ่อแม่ผมต้องการมีหลาน พวกเราทุกข์มากเลย” ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้หญิงอายุ 28 ปี ชัก 2 ครั้งก่อนมารักษา ชักแบบเหม่อลอย หลังรักษาแล้วไม่มีอาการชักเลยมา 6 เดือนแล้ว แต่กังวลใจมาก ซึ่งผมก็อธิบายถึงความรุนแรงของโรค ผลการรักษาและปรับเปลี่ยนยาเป็นชนิดที่มีโอกาสเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ต่ำสุด แต่ก็ไม่สามารถคลายความกังวลใจลงไปได้ ทุกคนยังมีความทุกข์มาก ซึ่งตรงกันข้ามกับอีกครอบครัวหนึ่ง

“หนูเป็นอย่างไรบ้าง หน้าตาสดชื่นไม่ชักแล้วใช่หรือเปล่า” ผู้ป่วยหญิงสาวหน้าตาสดใสตอบว่า “หนูชักเกือบทุกคืนเลยค่ะคุณหมอ แต่หนูก็ไม่ทุกข์” อ้าวเป็นอย่างนี้ไปได้ ผมสงสัยเลยถามผู้ป่วยกลับ “ทำไมหนูถึงไม่กังวล แล้วพ่อแม่กังวลหรือไม่” ปรากฏว่าทุกคนไม่ทุกข์เลย ไม่กังวลด้วย ผมได้ทราบเหตุผลคือว่า ครอบครัวนี้ใช้การศึกษาธรรมะเข้าช่วยในการดำเนินชีวิต ฝึกคิดว่าอาการชักนั้นคือธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิต เมื่อเขามาได้ (ลมชัก) เขาก็ไปได้ ตอนนี้เขายังอยากอยู่กับเรา เราก็ต้องอยู่กับเขาอย่างมีความสุข ไม่ต้องทุกข์ร้อนอะไร

ดูเหมือนไม่มีอะไรซับซ้อนเลย แต่ผมเองก็ว่ามันยากครับที่จะฝึกคิดและและคิดได้แบบนี้ ลองฝึกดูครับ ผมว่าสามารถแก้ได้ทุกปัญหาจริง ๆ ทุกข์หรือไม่ทุกข์ เราเป็นผู้กำหนด