บอกเล่าเก้าสิบ ตอนที่ 13: ทุกอย่างต้องดีที่สุด

บอกเล่าเก้าสิบ

การที่คนเราต้องการสิ่งที่ดีที่สุดนั้น คงไม่ใช่สิ่งที่ผิดแน่นอน แต่การที่เราจะต้องทำให้ทุกอย่างนั้นต้องดีที่สุดในทุกๆ เรื่องในชีวิตเรานั้นคงทำให้เราลำบากพอสมควร ที่สำคัญสิ่งที่ดีที่สุดนั้นอาจไม่เหมาะสมกับเราก็เป็นไปได้ ดังตัวอย่างที่ผมจะเล่าให้ฟังต่อไปนี้

ผมมีโอกาสรักษาผู้ป่วยชายสูงอายุประมาณ 70 ปี โรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยจะมาพบผมทุกเดือน เพราะต้องควบคุมทุกอย่างให้ดีที่สุด จริงแล้วปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยรายนี้นั้นไม่ได้รุนแรงเลย ทุกอย่างก็ควบคุมได้ในเกณฑ์ดี สามารถนัดติดตามการรักษาได้ทุก 3 เดือนแต่ผู้ป่วยไม่ยอม ต้องการพบแพทย์ทุกเดือนจะได้ปรึกษาหารือ ซักถามคำถามข้อข้องใจต่างๆ จากหมอโดยตรง การไปมาแต่ละครั้งก็เดินทางไกลเกือบ 300 กม. แต่ผู้ป่วยก็เต็มใจและต้องการจะมาพบแพทย์ทุกเดือน แม้บางครั้งตรงกับวันหยุดก็จะขอเลื่อนนัดเข้ามาเป็น 3 สัปดาห์ก็มี ไม่ยอมเลื่อนนัดออกไปเป็น 5 หรือ 6 สัปดาห์

10 ปีต่อมาอาการโรคพาร์กินสัน เริ่มมีปัญหาควบคุมอาการได้ไม่ค่อยดี ยาเริ่มออกฤทธิ์ไม่สม่ำเสมอ ผมก็พยายามปรับสูตรการรักษา แนะนำวิธีปฏิบัติตัว เช่น การทานอาหารโปรตีนลดลง ทานยาก่อนอาหาร อย่าให้ท้องผูก อาการก็ดีขึ้นมากใกล้เคียงปกติ แต่ก็ยังมีปัญหาเดินเซ วิงเวียนศีรษะเล็กน้อย ซึ่งผู้ป่วยต้องการให้ทุกอย่างหายเป็นปกติ ผู้ป่วยก็เลยหาข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีหมอที่ชำนาญเรื่องโรคพาร์กินสันมากที่สุด อยู่ที่กรุงเทพฯ ผู้ป่วยมาปรึกษาผมว่าจะไปรักษาที่กรุงเทพฯ ได้หรือไม่

ผมเองยินดีอย่างยิ่งที่ผู้ป่วยต้องการไปรักษาที่กรุงเทพฯ กับหมอที่เก่งที่สุด จึงได้สรุปประวัติการรักษา ปัญหาต่างๆ ที่ยังต้องแก้ไข และประสานงานกับแพทย์ที่กรุงเทพฯ ให้เพื่อความสะดวกในการเข้าตรวจ เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่กรุงเทพฯ ก็ได้เข้าตรวจตามที่ต้องการ และได้ปรับยารักษาโรคพาร์กินสันให้ใหม่ แต่เมื่อผู้ป่วยมาทานก็ไม่ดีขึ้น เพราะมีผลข้างเคียงของยาที่ปรับมาใหม่ เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ผู้ป่วยจึงได้มาพบผมและเล่าอาการให้ผมฟัง ผมจึงได้แนะนำว่าควรปรับลดยาที่ได้มาใหม่ แต่ผู้ป่วยก็ไม่ยอม บอกว่าหมอที่กรุงเทพฯ แนะนำให้ทานแบบนี้ ถ้าจะเปลี่ยนก็ต้องไปพบแพทย์ก่อน เพราะเกรงใจที่ท่านอุตสาห์ปรับการรักษาให้แล้ว

ผมพยายามอธิบายให้ฟังว่า หมอท่านไม่ว่าอะไรหรอก เพราะถ้าทานยาดังกล่าวแล้วมีผลข้างเคียง ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เดี๋ยวผมโทรคุยกับหมอที่กรุงเทพฯ ให้ก็ได้ แต่ผู้ป่วยก็ไม่ยอมอีก ต้องการจะไปพบแพทย์ที่กรุงเทพฯ ด้วยตนเอง เพื่อบอกอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และถ้าจะปรับเปลี่ยนยาก็ต้องให้แพทย์ที่กรุงเทพฯ เป็นผู้บอก แต่ระหว่างที่รอนัดที่กรุงเทพฯ นั้น ผู้ป่วยก็เกิดปัญหาเป็นลมหมดสติ ต้องเข้าโรงพยาบาลด่วน ผลปรากฏว่าเกิดจากที่เกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ และมีหัวใจเต้นผิดปกติ ซึ่งสาเหตุก็เกิดจากผลข้างเคียงของยาที่ได้รับใหม่

ผมมีโอกาสดูแลผู้ป่วยช่วงที่นอนรักษาในโรงพยาบาล จึงได้พูดคุยกับลูกของผู้ป่วยว่าปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นนั้น เป็นเพราะผู้ป่วยไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีคิด ต้องยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงได้บ้าง คนเราจะเดินเป็นเส้นตรงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งลูกสาวของผู้ป่วยก็ยอมรับว่าจริง พ่อของตนเองนั้นเป็นคนเคร่งครัดในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยอมปรับเปลี่ยนอะไรง่ายๆ และเมื่อตกลงสัญญากับใครไว้แล้วก็จะทำตามที่บอกทุกประการ แม้กระทั้งยาที่ทานแล้วเกิดผลเสียก็ยังทาน เพราะรับปากหมอไว้แล้ว ทุกคนในครอบครัวก็หวังว่าเหตุการณ์นี้จะช่วยให้พ่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้บ้าง

พอผู้ป่วยหายดี ผมก็ได้คุยกับผู้ป่วยใหม่อีกรอบ แต่ก็ดูเหมือนยังไม่ค่อยยอมรับการปรับเปลี่ยนวิธีคิดอีก สุดท้ายผมก็ได้แต่แนะนำผู้ป่วยไปว่า “คุณลุงครับ อะไรๆ ในโลกนี้ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงได้ เราไม่สามารถทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่เราต้องการได้ ยิ่งโรคที่เราเป็นนั้น เราก็สามารถควบคุมมันได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง คุณลุงต้องปล่อยวางครับ เราต้องปรับตัวเราให้อยู่กับโรคให้ได้” คุณลุงก็ได้แต่พูดว่า “มันก็จริงที่คุณหมอบอก แต่ผมว่าเราก็ต้องพยายามทำให้ได้ดีมากที่สุด ถ้าเราไม่ลองหรือไม่พยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่า มันทำได้หรือไม่”

จริงหรือไม่ว่าชีวิตคนเรานั้นต้องพยายามทำให้ได้ในสิ่งที่ดีที่สุด ท่านลองทบทวนและตัดสินใจเองนะครับ