น้ำยาบ้วนปากดีจริงหรือไม่ (ตอนที่ 1)

น้ำยาบ้วนปากดีจริงหรือไม่-1

      

      แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ปัจจุบันมีการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์น้ำยาบ้วนปากผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะบนสื่อออนไลน์

      ซึ่งโฆษณาสรรพคุณว่าเมื่อใช้แล้วสามารถขจัดคราบหินปูน คราบพลัค คราบจุลินทรีย์ ทำให้หินปูนหลุดออกได้ และทำให้ฟันขาวขึ้นภายใน 1 สัปดาห์นั้น ขอเตือนว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากน้ำยาบ้วนปากไม่สามารถกำจัดหินปูนให้หลุดออกมาได้

      แพทย์หญิงอัมพรกล่าวต่อว่า การใช้น้ำยาบ้วนปาก ไม่แนะนำให้ใช้เป็นกิจวัตรประจำวัน ให้ใช้เสริมการแปรงฟันในกรณีที่ทันตแพทย์แนะนำ มีข้อบ่งชี้ เช่น สุขภาพช่องปากไม่ดี ปากเป็นแผล เป็นโรคเหงือก มีการผ่าตัดเหงือก หรือคนที่มีแนวโน้มฟันผุง่าย

      ถ้าสุขภาพช่องปากเป็นปกติไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาบ้วนปาก เพราะการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เชื้อราในช่องปากเพิ่มขึ้นและเสียสมดุลในช่องปาก เนื่องจากในน้ำยาบ้วนปากมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค จึงขอย้ำประชาชนอย่าหลงเชื่อ เนื่องจากไม่มีผลทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์มายืนยัน หากมีปัญหาควรปรึกษาแพทย์ดีที่สุด

      ด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการกองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ประสิทธิภาพของน้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่วคราว สามารถควบคุมกลิ่นปากได้ประมาณ 3 ชั่วโมงเท่านั้น จากนั้นประสิทธิภาพจะลดลง

      ทันตแพทย์หญิงปิยะดา กล่าวอีกว่า ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเป็นครั้งคราวในกรณีที่ต้องการความมั่นใจ หากใช้เพื่อระงับกลิ่นปาก ควรแก้ที่สาเหตุของกลิ่นปากโดยตรง

      เช่น มีฟันผุ เป็นโรคเหงือกอักเสบ เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ทอนซิลอักเสบ หรือไซนัส ให้รับการรักษาอย่างตรงจุดและดูแลอนามัยในช่องปาก โดยแปรงฟันให้สะอาดทุกวัน เพิ่มการทำความสะอาดลิ้น เนื่องจากฝ้าขาวบนลิ้นเป็นสาเหตุสำคัญของกลิ่นปาก

      ขณะเดียวกันควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันทุกวัน และในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากทุกประเภท ทั้งประเภทที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอลและปราศจากแอลกอฮอล์ เนื่องจากยังไม่มีการควบคุมการกลืนที่ดี อาจมีการกลืนน้ำยาบ้วนปากได้ สำหรับน้ำยาบ้วนปากที่มีแอลกอฮอล์ผสม ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี

      การแปรงฟันเป็นการขจัดเอาเศษอาหาร แบคทีเรีย และคราบจุลินทรีย์ (Plaque) ออกจากผิวฟัน ไหมขัดฟัน (Flossing) เป็นการทำความสะอาดในส่วนที่การแปรงฟันเข้าไม่ถึง

      ส่วนน้ำยาบ้วนปาก (Mouthwash) เป็นน้ำยาที่ใช้อมบ้วนปากหลังการแปรงฟันและการขัดฟัน โดยประกอบด้วยสารละลายฆ่าเชื้อ (Antiseptic solutions) ที่ใช้ฆ่าเชื้อหรือทำให้การเจริญเติบโตของแบคทีเรียในปากช้าลงหลังการแปรงฟัน ดังนั้นน้ำยาบ้วนปากส่วนใหญ่จึงประกอบด้วยยาฆ่าเชื้อและแอลกอฮอล์ที่สูงถึงร้อยละ 27

แหล่งข้อมูล:

  1. สธ. เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาน้ำยาบ้วนปาก อวดสรรพคุณเกินจริง. http://pr.moph.go.th/iprg/include/admin_hotnew/show_hotnew.php?idHot_new=110756 [2018, June 7].
  2. Does Mouthwash work? https://www.nationaldentalcare.com.au/does-mouthwash-work/ [2018, June 7].
  3. Are Mouthwash and Mouth Rinse Interchangeable? http://vannfamilydental.com/blog/mouthwash-vs-mouth-rinse/ [2018, June 7].