น้ำมันมะพร้าว (Coconut oil)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 กรกฎาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวมีอะไรบ้าง?
- องค์ประกอบของกรดไขมันอิ่มตัว-ไม่อิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวเป็นอย่างไร?
- น้ำมันมะพร้าวดีต่อสุขภาพอย่างไร?
- น้ำมันมะพร้าวมีผลข้างเคียงต่อผู้บริโภคอย่างไร?
- ควรบริโภคน้ำมันมะพร้าวอย่างไร?
- เก็บน้ำมันมะพร้าวอย่างไร?
- น้ำมันมะพร้าวมีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใดบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เครื่องสำอาง (Cosmetics) และเครื่องประทินผิว (Toiletry)
- อาหารเสริม (Complementary foods)
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary supplements)
- อาหารหลักห้าหมู่:หมู่ที่ 5 ไขมัน (Five food groups: Fat)
- ครีมกันแดด (Sunscreen)
- การแพ้ อาการแพ้ อาการภูมิแพ้ (Allergy reaction)
บทนำ
น้ำมันมะพร้าว(Coconut oil) เป็นน้ำมันที่สกัดจากเนื้อมะพร้าวของผลแก่ จัดเป็นน้ำมันพืชที่นำมารับประทานได้ องค์ประกอบของน้ำมันมะพร้าวส่วนมากจะเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีของคาร์บอนอะตอมเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเดี่ยวและมีไม่ถึง 7% ที่เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัว(Unsaturated fat) ไขมันประเภทนี้จะมีการเชื่อมต่อระหว่างอะตอมของคาร์บอนด้วยพันธะคู่ น้ำมันมะพร้าวมีจุดหลอมเหลวประมาณ24 องศาเซลเซียส(Celsius) จึงสามารถอยู่ในรูปของเหลวได้ที่อุณหภูมิของร่างกาย สถิติการใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนประกอบของน้ำมันพืชทั่วโลกอยู่ที่ 2.5%จากน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ
องค์กรหรือสถาบันที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสุขภาพของประชาชน มีข้อถกเถียงหรือการต่อต้านการบริโภคน้ำมันมะพร้าว ด้วยเป็นน้ำมันพืชที่มีองค์ประกอบของไขมันอิ่มตัวสูงมาก เช่น Lauric acid ไขมันชนิดนี้จะทำให้ร่างกายมีการผลิตทั้งไขมันเลว(LDL:Low density lipoprotein)และไขมันดี(HDL:High density lipoprotein) ไขมัน LDL เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหลอดเลือดหัวใจ ขณะที่ไขมันดีอย่างเช่น HDL จะช่วยกำจัด LDL ให้ลดลง มักจะมีคำถามว่า ระดับไขมัน LDL และ HDL ควรอยู่ที่สัดส่วนเท่าใดจึงจะปลอดภัย ทางการแพทย์มีหลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินสัดส่วนระดับไขมันในเลือดที่เหมาะสมโดยใช้ดัชนีชี้วัดดังนี้
“ระดับไขมันคอเลสเตอรอลรวม(Total cholesterol) ต่อไขมันดี(HDL) ต้องไม่เกิน 4:1” ถือว่าสัดส่วนของไขมันในร่างกายยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ หากสัดส่วนเพิ่มเป็น 5:1 หรือ 6:1 กรณีเหล่านี้ควรต้องหันมาดูแลเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกายที่เหมาะสมให้มากกว่าเดิม หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์ในการบำบัดดูแล
ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวมีอะไรบ้าง?
ประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าว เช่น
- ประโยชน์ทางด้านโภชนาการ ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำมันพืช ขนมอบ ขนมทอด หรืออาหารว่างต่างๆ น้ำมันมะพร้าว 100 กรัม สามารถให้พลังงาน 890 แคลอรี่(Calorie) การบริโภคไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวเป็นปริมาณมาก อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- ใช้เป็นพลังงานทางเลือก โดยนำมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลสำหรับเป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์และเครื่องจักร ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันมะพร้าวอย่างแพร่หลาย
- ในวงการเสริมสวย/เครื่องสำอาง ใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์แต่งผม หรือผลิตภัณฑ์ถนอมผิว
องค์ประกอบของกรดไขมันอิ่มตัว-ไม่อิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าวเป็นอย่างไร?
องค์ประกอบของกรดไขมันอิ่มตัว-ไม่อิ่มตัวในน้ำมันมะพร้าว เป็นดังนี้
จากองค์ประกอบกรดไขมันในน้ำมันมะพร้าวดังข้างต้น ทำให้น้ำมันมะพร้าวเป็นแหล่ง กำเนิดของไขมันไตรกลีเซอไรด์ที่มีความยาวของสายคาร์บอนปานกลางหรือที่เรียกกันว่า Medium chain triglycerides(MCTs) การเกิด MCTs จะมีกลีเซอรอล (Glycerol) เป็นแกนกลาง และเชื่อมต่อกับกรดไขมันที่มีคาร์บอนอะตอม 6–12 อะตอมอีก 3 ตัวดังนี้
MCTs สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจากระบบทางเดินอาหารโดยไม่ต้องอาศัยเกลือน้ำดีจากตับมาช่วยในการดูดซึม ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาด้านการดูดซึมอาหารจากลำไส้ หรือเกิดปัญหาการเผาผลาญกรดไขมันในร่างกาย สามารถใช้ MCTs มาบำบัดอาการดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
น้ำมันมะพร้าวดีต่อสุขภาพอย่างไร?
จากความขัดแย้งในกลุ่มนักวิชาการด้วยกัน ที่ว่าด้วยเรื่องการบริโภคน้ำมันพืชที่มีองค์ประกอบของกรดไขมันอิ่มตัวเป็นปริมาณมาก อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดต่างๆ หรือทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นนั้น ก็มีข้อโต้แย้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารบำบัดโรค และกล่าวถึงคุณประโยชน์ของน้ำมันมะพร้าวที่มี ต่อร่างกายหลายประการดังนี้ เช่น
1. น้ำมันมะพร้าวสามารถเพิ่มไขมันดีอย่างเช่น HDLให้กับร่างกาย HDLจะช่วยลด ความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ นอกจากนี้น้ำมันมะพร้าวยังเป็นแหล่งของ MCTs ทำให้มีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เร็วโดยไม่ต้องอาศัยพลังงาน ขณะที่ MCTs ถูกส่ง ไปยังตับก็จะถูกเผาผลาญ และเปลี่ยนไปเป็นสารประกอบคีโตน(Ketones)ได้ง่ายดาย มีการศึกษาพบว่าสารคีโตนดังกล่าวจะก่อประโยชน์ต่อสมองโดยสามารถบำบัดอาการชักได้ในเด็ก
2. MCTs จากน้ำมันมะพร้าวมีกลไกช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันที่มีโมเลกุลใหญ่และยังมีความสัมพันธ์กับศูนย์ควบคุมความอิ่มของสมอง ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกอิ่มเร็ว การบิโภคอาหารก็น้อยลง และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดความเชื่อว่าน้ำมันมะพร้าวช่วยลดน้ำหนักตัวได้
3. กรดไขมันที่อยู่ในน้ำมันมะพร้าวชนิด Lauric acid เมื่อถูกย่อยจะได้สารประกอบใหม่ที่ชื่อว่า Monolaurin ทั้ง Lauric acid และ Monolaurin มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคอย่างเช่น แบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureus , Candida albicans และเชื้อไวรัส เชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุของโรคต่างๆในร่างกาย ทำให้มีแนวคิดการนำน้ำมันมะพร้าวมาทดลองบำบัดอาการป่วยของโรคติดเชื้อ เช่น เอชไอวี ไข้หวัดใหญ่ เริม งูสวัด และอื่นๆ
4. น้ำมันมะพร้าวใช้ทาภายนอกเพื่อป้องกันผิวหนังและเส้นผม ทำให้มีความชุ่มชื้น ช่วยป้องกันแสงยูวี บรรเทาอาการคันตามร่างกาย
5. น้ำมันมะพร้าวช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ ด้วยเป็นแหล่งกำเนิดไขมัน HDL และ LDL ในอัตราส่วนที่เหมาะสม
6. มีข้อสันนิษฐานว่า MCTs ที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นสารจำพวกคีโตน กลุ่มคีโตนนี้สามารถ นำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทนสำหรับเซลล์สมอง จึงอาจช่วยบำบัดอาการป่วยจากโรคอัลไซเมอร์ได้ในทางอ้อม
7. มีผู้บริโภคบางกลุ่ม ใช้น้ำมันมะพร้าวแทนยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก เมื่อมีอาการท้องผูก
น้ำมันมะพร้าวมีผลข้างเคียงต่อผู้บริโภคอย่างไร?
ผู้บริโภคน้ำมันมะพร้าว อาจมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- มีอาการท้องเสีย ด้วยน้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคต่างๆ ดังนั้นแบคทีเรียประจำถิ่นในลำไส้จึงอาจได้รับผลกระทบไปด้วย
- อาจทำให้ไขมันเลวอย่าง LDL เพิ่มมากขึ้น ด้วยน้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัว ค่อนข้างมาก
- อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ทั้งนี้มีเหตุผลจากความบริสุทธิ์ของน้ำมันมะพร้าว มีมาก-น้อยเพียงใด หรือไม่ก็มาจากการตอบสนองของร่างกายตนเอง
ควรบริโภคน้ำมันมะพร้าวอย่างไร?
นอกจากการนำน้ำมันมะพร้าวมาปรุงอาหารชนิดต่างๆแล้ว ยังมีการศึกษาด้านโภชนาการบำบัดโรค โดยใช้น้ำมันมะพร้าวกับกลุ่มอาสาสมัครทั้งหญิงและชาย พบว่าน้ำมันมะพร้าวทำให้มีอัตราการเผาผลาญไขมันในร่างกาย และมีปริมาณ HDL เพิ่มขึ้น การศึกษาดังกล่าว ยังต้องควบคุมสัดส่วนการบริโภคอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกายควบคู่กันไป
นอกจากนี้การบริโภคน้ำมันมะพร้าว ยังขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล เช่น น้ำหนักตัว อายุ เพศ ล้วนมีผลต่อความเหมาะสมของขนาดรับประทานน้ำมันมะพร้าวด้วยกันทั้งสิ้น มีกรณีศึกษามาให้ดูเป็นตัวอย่างดังนี้
- กรณีที่ 1 อาสาสมัครที่มีน้ำหนักมาก (อ้วน) รับประทานน้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนชา (30 มิลลิลิตร) ต่อวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยมีการควบคุมอาหารที่บริโภคควบคู่กัน พบว่ารอบเอวลดลง 1.1 นิ้ว หรือ 2.87 เซนติเมตร
- กรณีที่ 2 อาสาสมัครสตรีที่รับประทานน้ำมันมะพร้าว 2 ช้อนชาต่อวัน ส่งผลให้รอบเอวลดลงพร้อมกับระดับ HDL ในร่างกายเพิ่มขึ้น ในขณะที่เปรียบเทียบกับกลุ่มอาสาสมัครที่ใช้เป็นตัวควบคุมที่ไม่ได้รับประทานน้ำมันมะพร้าวจะให้ผลตรงกันข้าม
*หมายเหตุ: ควรบริโภคน้ำมันมะพร้าวก่อนอาหาร 15–30 นาที และไม่ควรรับประทานน้ำมันมะพร้าวก่อนเข้านอน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่อ่านบทความนี้ ต้องใช้วิจารณญาณพิจารณาความเป็นไปได้ว่า สุขภาพในด้านการเพิ่มปริมาณ HDL และการมีน้ำหนักตัวลดลง สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งน้ำมันมะพร้าวเพียงอย่างเดียว
เก็บน้ำมันมะพร้าวอย่างไร?
โดยทั่วไป การเก็บน้ำมันมะพร้าวควรปฏิบัติดังนี้ เช่น
- ควรเก็บน้ำมันมะพร้าวภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่แนะนำให้เก็บในตู้เย็น เพราะปกติจุดหลอมเหลวของน้ำมันมะพร้าวอยู่ที่ 24 องศาเซลเซียส การใส่ตู้เย็นจะทำให้น้ำมันมะพร้าวหนืดและแข็งตัว
- เก็บน้ำมันมะพร้าวในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บน้ำมันมะพร้าวให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง
- ไม่บริโภคน้ำมันมะพร้าวที่หมดอายุ หรือมีกลิ่นเหม็นหืน
- ไม่ทิ้งน้ำมันมะพร้าวลงในแหล่งน้ำหรือคูคลองตามธรรมชาติ
น้ำมันมะพร้าวมีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใดบ้าง?
ในประเทศไทยเรา จะพบเห็นการจัดจำหน่ายน้ำมันมะพร้าวทั้งในรูปแบบน้ำมันสกัดเย็น หรือบรรจุในแคปซูลนิ่มเพื่อรับประทาน หรืออยู่ในรูปแบบเครื่องสำอางใช้ภายนอก เช่น Agrilife , Siam COCO ,Vita tip , เนเจอมายด์ ซึ่งก่อนซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวที่ใช้ เป็นอาหารเสริม หรือใช้เป็นน้ำมันพืช เพื่อปรุงอาหาร ควรตรวจสอบเลขที่ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิต วันหมดอายุ สามารถดูเลข อย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ที่กำกับมากับฉลากผลิตภัณฑ์จากเว็บไซด์
http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx [2018,March31]
ซึ่งเมื่อเข้าเว็บไซด์ ให้พิมพ์เลข อย. ที่ระบุในฉลากผลิตภัณฑ์ จะต้องปรากฏชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับคณะกรรมการอาหารและยา
บรรณานุกรม
- http://www.naturepacific.com/page/34/learn-about-coconuts-why-does-virgin-coconut-oil-crystallize-and-become-solid- [2018,July7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Coconut_oil#Nutrition_and_fat_composition [2018,July7]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-cholesterol/expert-answers/cholesterol-ratio/faq-20058006 [2018,July7]
- https://www.healthline.com/nutrition/31-coconut-oil-uses#section20 [2018,July7]
- https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1092/coconut-oil [2018,July7]
- https://www.herbwisdom.com/herb-coconut-oil.html [2018,July7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Medium-chain_triglyceride [2018,July7]
- https://www.healthline.com/nutrition/top-10-evidence-based-health-benefits-of-coconut-oil#section1 [2018,July7]
- http://www.stylecraze.com/articles/unexpected-side-effects-of-coconut-oil/#gref [2018,July7]
- https://www.masteringdiabetes.org/what-are-ketones/ [2018,July7]
- https://www.healthline.com/nutrition/how-to-eat-coconut-oil#section4 [2018,July7]
- http://www.xn--42co4balqtbtxs9hkmh0jwfsfi5e.com/ [2018,July7]
- http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx [2018,July7]
- http://www.siampluscoconutoil.com/product.php?gclid=CjwKCAjwr-PYBRB8EiwALtjbzxIfL2-raY- DWAuWr100babDECu9S1-m7CebqLinyJ4UfMY1jyLX5RoC1aQQAvD_BwE [2018,July7]
- http://www.siampluscoconutoil.com/product-detail.php?product_id=CCK-BT1000-001 [2018,July7]
- https://www.youtube.com/watch?v=N_LRa4rTOaA [2018,July7]