น้ำท่วมสมอง ? (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

น้ำท่วมสมอง-6

      

      แม้ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองเป็นภาวะที่ป้องกันไม่ได้ แต่เราสามารถลดความเสี่ยงได้โดย

• กรณีที่ตั้งครรภ์ ให้ฝากครรภ์ (Prenatal care) และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะทำให้ทารกมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองที่มากขึ้น

• ป้องกันการเจ็บป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อด้วยการฉีดวัคซีน

• ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ เช่น สวมหมวกกันน็อคเมื่อขี่จักรยาน ขี่มอเตอร์ไซด์ หรือเล่นสเก็ตบอร์ด หรือคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อนั่งในรถ

      สำหรับการวิเคราะห์ถึงภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองนั้นทำได้โดยใช้

- การบันทึกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ อัลตราซาวด์ (Ultrasonography)

- ซีทีสแกน (Computed tomography = CT)

- เอ็มอาร์ไอ (Magnetic resonance imaging = MRI)

- การวัดความดันในกะโหลกศีรษะ (Pressure-monitoring techniques)

- การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar puncture / spinal tap)

      ในส่วนของการรักษา ส่วนใหญ่ใช้วิธีการผ่าตัดดังนี้

- การสร้างระบบการระบายน้ำ (Shunt system) ซึ่งประกอบด้วยสายสวน (Shunt) และลิ้นปิดเปิด (Valve) โดยสายสวนข้างหนึ่งจะอยู่ที่สมองหรืออยู่ในน้ำไขสันหลังที่บริเวณนอกไขสันหลัง (Spinal cord) และอีกข้างหนึ่งจะอยู่ที่อวัยวะอื่นของร่างกายที่สามารถใช้เป็นที่ระบายน้ำในโพรงสมองได้ เช่น ที่ช่องท้อง ที่หัวใจ หรือบริเวณรอบๆ ปอด ที่สามารถดูดซึมน้ำได้ ซึ่งจะต้องมีการติดตามและตรวจเช็คการทำงานของสายสวนนี้เป็นประจำไปตลอดชีวิต

- การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องในโพรงสมอง เพื่อเจาะผนังของโพรงสมองส่วนที่สามในการระบายน้ำหล่อสมอง (Endoscopic third ventriculostomy = ETV)

      ทั้งนี้ วิธีการผ่าตัดจะเหมาะสมกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป

      อย่างไรก็ดีการผ่าตัดอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ เช่น กรณีของระบบการระบายน้ำ อาจทำให้มีการติดเชื้อ เป็นเหตุให้มีไข้ต่ำ เจ็บคอหรือปวดไหล่ หรือแดงบวมตลอดทางเดินของสายสวน ต้องเปลี่ยนสายสวน

      หรืออาจมีการขัดข้องทางเทคนิค เช่น อาจระบายน้ำได้มากเกิน (Overdraining) จนทำให้โพรงสมองลีบ หลอดเลือดฉีกขาด เป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะ มีภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง (Subdural hematoma) หรือ มีขนาดโพรงสมองเล็กเกินไปที่ตรวจพบได้จากภาพถ่ายสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือเอมอาร์ไอ(Slit ventricle syndrome) หรืออาจมีการระบายน้ำได้น้อยเกิน (Underdraining) จนทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองอีก

แหล่งข้อมูล:

  1. Hydrocephalus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hydrocephalus/symptoms-causes/syc-20373604 [2018, May 9].
  2. Hydrocephalus. https://www.medicinenet.com/hydrocephalus/article.htm#how_is_hydrocephalus_diagnosed [2018, May 9].
  3. https://radiopaedia.org/articles/slit-ventricle-syndrome [2018, May 9].