น้ำท่วมสมอง ? (ตอนที่ 3)

น้ำท่วมสมอง-3

      

      มีบางกรณีแต่พบยาก ที่เนื้อเยื่อสมองสามารถสร้างน้ำในโพรงสมองได้เป็นปริมาณที่มากผิดปกติจนร่างกายไม่สามารถซึมซับหรือกระจายปริมาณน้ำที่สูงนี้ได้ ซึ่งกรณีนี้เราเรียกว่า Overproduction hydrocephalus

      หรือบางกรณีน้ำในโพรงสมองก็มีการสร้างตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสามารถจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างเฉียบพลันหรือรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และบางทีน้ำในโพรงสมองก็ค่อยๆ สะสมตัวทีละน้อยและอาจจะไม่ทำให้เกิดปัญหาทันทีก็ได้

      นอกจากนี้ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองยังสามารถแบ่งออกได้เป็น

  • ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองแต่กำเนิด (Congenital hydrocephalus) อาจเกิดจากปัญหาทางกายภาพของการไหลเวียนหรือการดูดซึมของน้ำในโพรงสมองที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อหรือพัฒนาการของทารกในครรภ์ที่ผิดปกติ หรือสารเคมีที่ทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ (Teratogens) หรืออาจเกี่ยวข้องกับความพิการแต่กำเนิดที่มีผลกระทบต่อกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural tube defects)
  • ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองที่เกิดขึ้นภายหลัง (Acquired hydrocephalus) เป็นภาวะที่เกิดหลังคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) ตกเลือด (Bleeding) ได้รับบาดเจ็บ หรือมีก้อนเนื้อ
  • ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองชนิดความดันปกติ (Normal-pressure hydrocephalus = NPH) ซึ่งมักเกิดในคนที่อายุ 60 ปี หรือมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะเป็นเหตุให้เกิดภาวะสมองเสื่อม (Dementia) โดยกรณีนี้มักเกิดภายหลังการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ติดเชื้อ หรือมีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง (Subarachnoid hemorrhage) หรืออื่นๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
  • ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองชนิดเนื้อเยื่อสมองลดน้อยลง(Ex-vacuo hydrocephalus) ที่เกิดเมื่อสมองถูกทำลายจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หรืออุบัติเหตุ จนทำให้เนื้อเยื่อสมองหดตัว

      ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองเกิดได้กับทุกคน แต่มักจะพบในเด็กและผู้สูงวัยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยในเด็กมักจะพบได้ 1 คน ในเด็กทุก 500 คน

      อาการของภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองจะแตกต่างกันไปตามอายุ พัฒนาการของโรค และความอดทนต่อสภาวะที่เกิดขึ้นของแต่ละราย เช่น ความทนทานของทารกในกรณีที่มีภาวะน้ำคั่งในโพรงสมองจะแตกต่างจากกรณีของผู้ใหญ่ เนื่องจากกระโหลกของทารกยังปิดไม่สนิท ยังสามารถขยายตัวได้

      โดยในเด็กทารก อาการที่เห็นได้ชัดก็คือ ลักษณะของศีรษะที่เปลี่ยนไป กล่าวคือ

  • ศีรษะมีขนาดใหญ่ผิดปกติ
  • ศีรษะโตอย่างรวดเร็ว
  • กระหม่อมศีรษะ (Fontanel) โป่งออก

แหล่งข้อมูล:

  1. Classification and Types of Hydrocephalus - Topic Overview. https://www.webmd.com/brain/tc/classification-of-hydrocephalus-topic-overview [2018, May 6].
  2. Hydrocephalus. https://www.medicinenet.com/hydrocephalus/article.htm#how_is_hydrocephalus_diagnosed [2018, May 6].
  3. Hydrocephalus. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hydrocephalus/symptoms-causes/syc-20373604 [2018, May 6].
  4. 4. https://medical-dictionary.thefreedictionary.com/hydrocephalus+ex+vacuo [2018, May 6].