ระวัง ! น้ำดื่มปนเปื้อน (ตอนที่ 2)

สารหนูที่พบมีทั้งในรูปของอนินทรีย์และอินทรีย์ โดยสารหนูที่เป็นอนินทรีย์ (เช่นที่พบในน้ำ) เป็นสารหนูที่มีพิษต่อร่างกายมากกว่าสารหนูที่เป็นอินทรีย์ (เช่นที่พบในอาหารทะเล)

การกินปลา หอย เนื้อสัตว์ สัตว์ปีก ผลิตภัณฑ์จากนม และธัญพืช (Cereals) ที่ปนเปื้อนสารหนูอาจพบสารพิษได้น้อยกว่าการดื่มน้ำใต้ดินที่มีสารปนเปื้อน

ส่วนสารหนูที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมนั้นใช้เป็นสารผสมโลหะ (Alloying agent) ในกระบวนการผลิตแก้ว ย้อมสี (Pigments) สิ่งทอ (Textiles) กระดาษ การยึดติดโลหะ (Metal adhesives) รักษาเนื้อไม้ และผลิตอาวุธ (Ammunition) นอกจากนี้ยังใช้ในอุตสาหกรรมยาฆ่าแมลง สารเพิ่มเติมในอาหาร (Feed additive) และยาเวชภัณฑ์

คนที่สูบบุหรี่ก็สามารถได้รับพิษสารหนูด้วย เพราะต้นยาสูบมักถูกพบในดินที่มีสารหนู

อาการของพิษสารหนูจะเริ่มต้นด้วยการปวดศีรษะ สับสน ท้องเสียอย่างแรง และง่วงซึม เมื่อพิษสะสมมากขึ้นจะมีการชัก (Convulsion) และเล็บอาจจะเปลี่ยนสีหรือที่เรียกว่า (Leukonychia striata)

เมื่อได้รับพิษแบบเฉียบพลัน จะมีอาการ ท้องเสีย อาเจียน มีเลือดในปัสสาวะ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ผมร่วง ปวดช่องท้อง และชัก อวัยวะที่มักจะโดนทำลายโดยสารหนู ได้แก่ ปอด ผิวหนัง ไต และตับ ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

ส่วนการได้รับพิษแบบสะสมจนกลายเป็นพิษในระดับสูงจากสารหนูอนินทรีย์ (โดยผ่านทางน้ำและอาหาร) สังเกตได้จากสีผิวที่เปลี่ยนไป ผิวหนังเป็นแผล (Skin lesions) และมีภาวะหนังหนา (Hyperkeratosis) ที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ภายหลังการสะสมของสารพิษมาประมาณ 5 ปี ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นมะเร็งผิวหนัง นอกจากนี้ การสะสมที่นานขึ้นอาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งที่กระเพาะปัสสาวะ (Bladder) และปอดได้

ทั้งนี้ องค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษาวิจัยเรื่องโรคมะเร็งที่เรียกย่อว่า ไอเออาร์ซี (The International Agency for Research on Cancer = IARC) ได้จัดให้สารหนูและส่วนประกอบของสารหนูเป็นสารก่อมะเร็งในคน และยังระบุว่าสารหนูในน้ำดื่มทำให้เกิดมะเร็งในคนด้วย

นอกจากนี้ในระยะยาวสารหนูยังอาจก่อให้เกิดพิษต่อระบบประสาท (Neurotoxicity) เป็นโรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease)

ทางที่จะป้องกันการปนเปื้อนสารหนูในน้ำดื่ม อาจทำได้โดย

  • หาแหล่งน้ำใต้ดินอื่นที่มีสารหนูปนเปื้อนน้อยกว่า เช่น น้ำฝน เพื่อใช้ในการกิน ทำอาหาร และชลประทาน ส่วนน้ำที่ปนเปื้อนสารหนูที่มากกว่าอาจใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น ใช้อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า
  • ติดตั้งระบบแยกสารหนูออก เช่น ใช้การออกซิเดชั่น (Oxidation) ทำให้ตกตะกอน/ตกผลึก (Coagulation/precipitation) ใช้การดูดซึม (Absorption) การแลกเปลี่ยนไอออน (Ion exchange) และวิธีเมมเบรน (Membrane techniques)
  • สำหรับระยะยาว ควรลดการปนเปื้อนในกระบวนการอุตสาหกรรม

แหล่งข้อมูล

  1. Arsenic. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs372/en/ [2014, May 7].
  2. Arsenic poisoning. http://en.wikipedia.org/wiki/Arsenic_poisoning [2014, May 7].