นีโอมัยซิน (ตอนที่ 1)

นีโอมัยซิน

คุณคุ้นหูกับโฆษณาลักษณะนี้ไหม “ทุกครั้งที่มีอาการเจ็บคอ อมยาอมฆ่าเชื้อในลำคอ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้”

จากโฆษณาลักษณะนี้ มีคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่า เมื่อมีอาการระคายคอหรือเจ็บคอ ก็ซื้อยาอมผสมยาฆ่าเชื้อมาอมได้ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ยาอมบรรเทาอาการเจ็บคอหลายยี่ห้อในประเทศไทยมักผสมยาฆ่าเชื้อ เช่น นีโอมัยซิน ซึ่งไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำคอ ส่วนอาการเจ็บคอที่รู้สึกบรรเทาหลังจากอมยาอมนั้น เป็นเพราะยาชาที่ผสมอยู่ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ

โดยธรรมชาติคนเราจะมีแบคทีเรียชื่อ ‘อีโคไล’ อยู่ในร่างกาย ซึ่งการอมยาอมที่มีนีโอมัยซินบ่อยๆ นั้น จะเป็นการกระตุ้นให้เชื้อต่อต้านยาและกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา

และยิ่งไปกว่านั้น เชื้อดื้อยาเหล่านี้สามารถพัฒนาตัวเองให้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะในกลุ่มเดียวกันได้ ส่งผลให้ต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่รุนแรงขึ้น หรือเชื้อดื้อยาอาจมีความรุนแรงจนไม่มียารักษาได้เลย ที่สำคัญเชื้อดื้อยาที่สะสมอยู่ในร่างกาย อาจรุกรานเข้าสู่อวัยวะต่างๆ เช่น ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ไต และเข้าสู่กระแสเลือด จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

ฉะนั้น เมื่อมีรู้สึกเจ็บคอ ควรกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ เลี่ยงอาหารรสจัด พักผ่อนให้เพียงพอ และควรงดสูบบุหรี่

นีโอมัยซิน (Neomycin) ใช้รักษาเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ส่วนการติดเชื้อไวรัส เช่น หวัด นั้น ไม่มีผล เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ช่วยลดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในลำไส้ จึงเป็นยาที่ใช้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดเกี่ยวกับลำไส้

นีโอมัยซินอาจใช้ร่วมกับอาหารบางชนิดเพื่อรักษาภาวะสมองเสื่อมจากโรคตับ (Hepatic encephalopathy) เพราะโดยปกติตับจะมีหน้าที่กำจัดแก๊สแอมโมเนีย แต่โรคนี้ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ จึงต้องอาศัยนีโอมัยซินให้ทำหน้าที่ฆ่าแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดแก๊สแอมโมเนียนี้

ยานี้ใช้กินตามคำสั่งแพทย์ กรณีใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหลังการผ่าตัดลำไส้ แพทย์จะให้กินยานี้ 3-4 ครั้งต่อวันก่อนการผ่าตัด ส่วนการรักษาภาวะสมองเสื่อมจากโรคตับ แพทย์จะใหกิน 4 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 5-6 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและการตอบสนองต่อการรักษา

ก่อนใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการได้ยิน (เช่น หูตึง การได้ยินน้อยลง) ปัญหาลำไส้ (เช่น ลำไส้อุดตัน บวม เป็นแผล) ปัญหาไต โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia gravis) โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease)

เพราะนีโอมัยซิน Neomycin อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร ประสาทและไตถูกทำลาย ดังนั้นควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการเสียงดังในหู ไม่ได้ยิน อาการเป็นเหน็บ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก

บรรณานุกรม

1. เตือนภัย! “ยาอมแก้เจ็บคอ” อมแล้วดื้อยา รักษาไม่หาย อันตรายถึงชีวิต!. http://manager.co.th/GoodHealth/ViewNews.aspx?NewsID=9590000106321 [2016, November 9].

2. Neomycin. https://www.drugs.com/cdi/neomycin.html [2016, November 9].

2. Neomycin. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-8047/neomycin-oral/details [2016, November 9].