นิ้วล็อก ของฝากจากสมาร์ทโฟน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

นิ้วล็อก-ของฝากจากสมาร์ทโฟน

นิ้วล็อกเกิดเมื่อเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น (Tendon sheath) มีการอักเสบ เมื่อเป็นนานจะทำให้เอ็นและปลอกเอ็นบวมรัดติดกัน ทำให้เป็นพังผืดหนาตัวขึ้น จนในที่สุดเกิดเป็นปมเอ็น (Nodule) ทำให้งอนิ้วไม่ลงหรือเหยียดนิ้วไม่ออก

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ้วล็อก ได้แก่

  • การเคลื่อนไหวหรือการใช้นิ้วซ้ำๆ กันบ่อยๆ (Repeated gripping) ทำให้นิ้วมือต้องเกร็ง
  • มีปัญหาสุขภาพ เช่น เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคเกาต์ (Gout) และโรคเบาหวาน
  • เพศ โดยผู้หญิงมักเป็นมากกว่าผู้ชาย
  • เคยได้รับบาดเจ็บที่มือ

นิ้วล็อกมักเกิดในเกษตรกร คนงานโรงงานอุตสาหกรรม หรือนักดนนตรี ที่ต้องใช้นิ้วมือเคลื่อนไหวอยู่บ่อยๆ และมักเกิดในคนที่อายุระหว่าง 40-60 ปี นิ้วล็อกอาจพบในเด็กที่มีอายุระหว่าง 6 เดือน – 2 ปี แต่พบได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กไม่สามารถเหยียดนิ้วโป้งได้ แต่ไม่เจ็บและมักหายเองโดยไม่ต้องรักษา

อาการของโรคนิ้วล็อกมีตั้งแต่ระดับอ่อนไปยังระดับรุนแรง โดยมีอาการดังต่อไปนี้

  • อาการปวดนิ้วเมื่อมีการงอหรือเหยียดนิ้ว
  • นิ้วแข็ง (Finger stiffness) โดยเฉพาะในตอนเช้า
  • มีเสียงดังเปาะหรือเสียงดังคลิกเมื่อมีการเคลื่อนไหวนิ้ว
  • ฝ่ามือกดเจ็บ (Tenderness) หรือเป็นปุ่ม (Nodule) ที่โคนนิ้วมือที่เป็น
  • ไม่สามารถงอหรือเหยียดนิ้วเองได้
    • การตรวจวิเคราะห์ทำได้ด้วยการตรวจทางกายภาพ (Physical exam) โดยแพทย์จะให้กำและแบมือ ดูบริเวณที่ปวด สัมผัสดูว่ามีปุ่มหรือก้อนที่บริเวณมือ

      สำหรับการรักษาเบื้องต้นนั้นให้

      • พักการใช้งานของนิ้วอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
      • ประคบเย็นหรือประคบร้อนวันละหลายๆ ครั้ง โดยเฉพาะในตอนเช้า
      • อาจใส่เฝือก (Splint) ที่นิ้วเพื่อไม่ให้ข้อต่อเคลื่อนไหวเป็นเวลา 6 สัปดาห์
      • ยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ (Stretching exercises)

      จากนั้นแพทย์อาจจ่ายยาลดการอักเสบ เช่น ยา Ibuprofen หรือยา Naproxen หากอาการไม่ดีขึ้นแพทย์อาจแนะนำให้

      • ฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid injection) ที่บริเวณปลอกเอ็นกล้ามเนื้อ (Tendon sheath) เพื่อลดอาการอักเสบและทำให้เอ็นเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ซึ่งใช้ได้ผลประมาณร้อยละ 50–80 ของคนที่โรคนิ้วล็อก อย่างไรก็ดีจะใช้ได้ผลน้อยกับผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน และ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือกรณีที่ฉีดแล้ว 2ครั้งไม่หาย แพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด
      • การรักษาโดยการเจาะ (Percutaneous release) โดยการใช้เข็มฉีดยาเข้าไปตัดปลอกเอ็นที่รัดออก อาจควบคุมการทำด้วยอัลตราซาวด์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่ทำลายเส้นเอ็นหรือเส้นประสาทใกล้เคียง
      • การผ่าตัด (Surgery)

      แหล่งข้อมูล

      1. Trigger Finger. http://www.webmd.com/osteoarthritis/guide/trigger-finger[2015, October 10].
      2. Trigger Finger.http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trigger-finger/basics/definition/con-20043819 [2015, October 10].
      3. Trigger Finger.http://orthoinfo.aaos.org/topic.cfm?topic=a00024 [2015, October 10].
      4. Trigger finger. http://www.nhs.uk/conditions/Trigger-finger/Pages/Introduction.aspx [2015, October 10].