นิวมอเนีย (ตอนที่ 3)

นิวมอเนีย

โรคปอดอักเสบเกิดจากเชื้อโรคได้หลายชนิด เชื้อต้นเหตุที่พบมากที่สุด ก็คือ เชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสในอากาศที่เราหายใจ เพราะบางครั้งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ไม่สามารถจัดการกับเชื้อเหล่านี้ได้ เชื้อดังกล่าวรวมถึง

1. โรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อจากชุมชน (Community-acquired pneumonia) ได้แก่

  • เชื้อแบคทีเรีย - ที่พบมาก คือ Streptococcus pneumonia ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถเกิดขึ้นได้เองหลังจากที่เราเป็นไข้หวัด หากเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย อุณหภูมิในร่างกายอาจจะสูงมากถึง 41 องศาเซลเซียส ปากและเล็บอาจมีสีคล้ำเพราะขาดออกซิเจนในเลือด และอาจเพ้อเพราะพิษไข้
  • เชื้อคล้ายแบคทีเรีย (Bacteria-like organisms) - อย่าง Mycoplasma pneumonia ซึ่งจะมีอาการค่อนข้างอ่อนกว่าเชื้อชนิดอื่น
  • เชื้อไวรัส - ที่ทำให้เกิดโรคหวัดก็สามารถเป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดอักเสบได้ โดยเป็นเชื้อที่พบมากในโรคปอดอักเสบของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่จะอาการไม่หนัก แต่บางกรณีก็อาจมีอาการรุนแรงได้
  • เชื้อรา - พบมากในคนที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรังหรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือในคนที่มีการหายใจเอาเชื้อราเข้าไปในปริมาณที่มาก ทั้งนี้เชื้อรานี้สามารถพบได้ในดินหรือขี้นก

2. โรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อจากโรงพยาบาล (Hospital-acquired pneumonia)

บางคนอาจติดเชื้อระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งเชื้อนี้จะทำให้เกิดอาการรุนแรงได้เนื่องจากเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ คนที่ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) ในห้องไอซียูเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อชนิดนี้

3. โรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อจากสถานที่ให้บริการทางด้านสุขภาพ (Health care-acquired pneumonia) เป็นเชื้อที่ติดในคนที่ต้องอยู่ในสถานที่ให้บริการทางด้านสุขภาพเป็นระยะเวลานาน รวมถึงศูนย์ฟอกไต เช่นเดียวกับเชื้อที่ติดจากโรงพยาบาล เชื้อนี้มักเกิดจากแบคทีเรียที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะ

4. โรคปอดอักเสบจากการสำลัก (Aspiration pneumonia) เกิดขึ้นเมื่อมีอาหาร น้ำ อาเจียน หรือน้ำลาย สำลักเข้าสู่ปอด มักเกิดในคนที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองหรือมีปัญหาเรื่องการกลืน การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการเสพยาที่มากเกิน

โรคปอดอักเสบสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ แต่มีคน 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่

  • เด็กที่อายุ 2 ปี หรือน้อยกว่า
  • ผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 65 ปี

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นอีก เช่น

  • กรณีเป็นโรคเรื้อรัง – โรคหอบหืด (Asthma) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือ โรคซีโอพีดี (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD) หรือ โรคหัวใจ (Heart disease)
  • ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันถูกกด – เช่น คนที่เป็นโรคเอดส์ คนที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ คนที่ได้รับเคมีบำบัด หริอ คนที่ได้รับสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน
  • คนที่สูบบุหรี่ – เพราะบุหรี่จะทำลายการป้องกันของร่างกายตามธรรมชาติที่มีต่อเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคปอดอักเสบ
  • คนที่อยู่ในโรงพยาบาล – โดยเฉพาะคนที่ใช้เครื่องช่วยหายใจในห้องไอซียู
  • มีการใช้ยากลุ่ม Proton pump inhibitor ที่เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
  • มีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ เช่น เป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่
  • แหล่งข้อมูล

    1. Pneumonia - Topic Overview. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-topic-overview [2016, January 9].

    2. Pneumonia. http://www.lung.org/lung-health-and-diseases/lung-disease-lookup/pneumonia/ [2016, January 9].

    3. Pneumonia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pneumonia/basics/definition/con-20020032 [2016, January 9].