ธาลิโดไมด์ (Thalidomide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาธาลิโดไมด์ (Thalidomide)เป็นหนึ่งในยาที่มีการผลิตและมีการใช้มาอย่างยาวนานกว่า 60 ปีแล้ว โดยบริษัทเคมีกรูเอ็นธอล (Chemie Grünenthal) ประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ตัวยาและวางจำหน่ายครั้งแรกในประเทศเยอรมนีตะวันตกในปี ค.ศ. 1957(พ.ศ.2500) ในชื่อการค้าว่า “คอนเทอร์กัน (Contergan)” โดยใช้เป็นยาช่วยในการนอนหลับ รวมถึงรักษาอาการวิตกกังวล การปวดศีรษะแบบตึงเครียด/ปวดศีรษะจากเครียด(Tension) และต่อมามีการนำมาใช้เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนสำหรับหญิงตั้งครรภ์

ในช่วงเวลาที่ยาธาลิโดไมด์ออกจำหน่ายแก่ผู้ป่วยเป็นครั้งแรก ยาธาลิโดไมด์ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ยามหัศจรรย์ (Wonder Drug)” เนื่องจากมีสรรพคุณหลายประการทั้งช่วย ในการนอนหลับ เป็นยาแก้ไอ ยาแก้หวัด และปวดศีรษะ รวมถึงแก้อาการแพ้ท้อง คลื่นไส้อาเจียน และเป็นยาที่มีความปลอดภัย ยาธาลิโดไมด์มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ในยุโรปในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนีตะวันตกเพื่อลดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่ในสมัยนั้น ไม่ได้มีการควบคุมการศึกษาวิจัยและการทดสอบการใช้ยาอย่างเป็นระบบ ประกอบ การความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเภสัชศาสตร์ในขณะนั้นมีไม่มากพอที่จะเชื่อได้ว่ายาสามารถผ่านรกและเป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์ได้ จนต่อมาพบว่ายาธาลิโดไมด์เป็นยาที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ทารกที่เกิด “พิการแต่กำเนิด” ที่เรียกว่าโฟโคมีเลีย (Phocomelia) คือจะพบว่ามีอวัยวะบางส่วนของร่างกายไม่งอกและไม่เจริญเติบโตไปตามพัฒนาการที่ควรจะเป็น เช่น ไม่มีมือ ไม่มีเท้า มีการประเมินว่า มีเด็กที่เสียชีวิตจากยาชนิดนี้กว่า 2,000 ราย และอีกกว่า 10,000 รายที่เกิดการพิการจากยาชนิดนี้ โดยในจำนวนนี้ กว่า 5,000 ราย อยู่ในประเทศเยอรมนีตะวันตก จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1961(พ.ศ.2504) จึงมีการถอนยาตัวนี้จากตลาด นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์และอุตสาหกรรมยา

บทเรียนจากยาธาลิโดไมด์ ทำให้หลายประเทศเกิดความตระหนักถึงพิษจาก ยา และทำให้เกิดการกำหนดการศึกษา วิจัย พัฒนายา และการทดสอบตัวยาในสัตว์ทดลอง และในทางคลินิกอย่างเป็นระบบ ก่อนนำมาใช้จริงกับผู้ป่วย

ปัจจุบัน มีการศึกษายาธาลิโดไมด์อีกครั้ง และนำกลับมาใช้ในการรักษา โรคเรื้อน โรคผิวหนังชนิดภาวะโรคเห่อชนิดตุ่มอักเสบ (Erythema Nodosum Leprosum) และโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวมัลติเพิลมัยอีโลมา/มัลติเพิลมัยอีโลมา(Multiple Myeloma ย่อว่า MM)

ในประเทศไทย ยาธาลิโดไมด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษตามพระราช บัญญัติยา ซึ่งต้องมีการสั่งใช้และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิด

ยาธาลิโดไมด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ธาลิโดไมด์

ยาธาลิโดไมด์มีข้อบ่งใช้ ดังต่อไปนี้ เช่น

ก. โรคเรื้อน และโรคผิวหนังชนิด ภาวะโรคเห่อชนิดตุ่มอักเสบ (Erythema Nodosum Leprosum; ENL)

ข. โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโอโลมา (Multiple Myeloma)

นอกจากนี้ ยาธาลิโดไมด์ยังมีการใช้ในข้อบ่งใช้อื่นๆ ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Off-label use) เช่น อาการมีแผลในช่องปากในผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (Aphthous stomatitis) อาการท้องเสียอันเนื่องมาจากการติดเชื้อเอชไอวี (HIV-associated diarrhea) การติดเชื้อบางชนิด มะเร็งคาโอซิซาร์โคมา (Kaposi’s Sarcoma)ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต้านร่างกายผู้ป่วยชนิดเรื้อรัง(Chronic graft-versus-host disease)ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ และโรคโครห์น (Crohn’s disease)

ยาธาลิโดไมด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาธาลิโดไมด์มีคุณสมบัติ/กลไกการออกฤทธิ์ในการควบคุมระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค/ระบบภูมิคุ้มกัน(Immunomodulatory) และมีคุณสมบัติยับยั้งการสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง (Antiangiogenic effects)

ฤทธิ์ต่อระบบภูมิคุ้มกันของยาธาลิโดไมด์แตกต่างกันไปตามสภาวะของโรค เนื่องจากกลไกที่แน่ชัดในการทำงานของยานี้ยังไม่ชัดเจน เช่น ในการรักษา โรคเรื้อน หรือภาวะโรคเห่อชนิดตุ่มอักเสบ (Erythema Nodosum Leprosum; ENL) ซึ่งเชื่อว่ายาธาลิโดไมด์มีฤทธิ์ในการลด Tumor necrosis factor alpha (ย่อว่า TNF alpha)อันเป็นสารโปรตีนสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบของร่างกาย

ส่วนกลไกของยาธาลิโดไมด์ในการรักษาโรคมะเร็ง Multiple Myeloma พบว่ายาธาลิโดไมด์มีบทบาทในการเพิ่มจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกาย อย่างเช่น Natural Killer Cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีการตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมทั่วไปที่เข้าสู่ร่างกาย เพิ่มจำนวนสารโปรตีนสื่อประสานระหว่างเซลล์ภูมิคุ้มกัน เช่น อินเตอร์ลิวคีน-2 (Interleukin-2 ที่มีบทบาทในการควบคุมจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว และการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย) และอินเตอร์เฟอรอนแกมมา (Interferon Gamma)ที่ควบคุมภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อต้านไวรัสต่างๆ

ยาธาลิโดไมด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาธาลิโดไมด์ที่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัมต่อเม็ดแคปซูล

สำหรับในต่างประเทศ มีการจัดจำหน่ายยาธาลิโดไมด์ในขนาดความแรงอื่นๆ ด้วย ได้แก่ 100, 150, และ 200 มิลลิกรัมต่อเม็ดแคปซูล

ยาธาลิโดไมด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาธาลิโดไมด์มีขนาดการรับประทานยาตามข้อบ่งใช้ยา ดังต่อไปนี้

ก. โรคเรื้อน หรือ ภาวะโรคเห่อชนิดตุ่มอักเสบ (Erythema Nodosum Leprosum; ENL): ในภาวะเฉียบพลันของอาการโรค มีขนาดการใช้ยานี้ตั้งแต่ 100-300 มิลลิกรัมต่อวัน ขึ้นอยู่กับอาการรุนแรงของผู้ป่วย โดยให้ใช้ยานี้จนกว่าอาการจะดีขึ้น ส่วนใหญ่ใช้เวลาประมาณ 2สัปดาห์ แล้วแพทย์จึงค่อยๆปรับลดขนาดยาลงทุกๆ 2-4 สัปดาห์ ส่วนในระยะควบคุมอาการ (Maintenance) แพทย์จะใช้ ขนาดยานี้ที่น้อยที่สุด ที่สามารถควบคุมอาการโรคดังกล่าวได้ และแพทย์จะค่อยๆปรับลดขนาดยานี้ลง

ข. โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยอีโอโลมา (Multiple Myeloma): โดยให้ร่วมกับยาเด็กซามาธาโซน (Dexamethasone) ขนาดยาที่แนะนำโดยทั่วไปคือ 200 มิลลิกรัมต่อวัน

การกำหนดขนาดยาธาลิโดไมด์ ยังขึ้นกับสภาวะร่างกายของผู้ป่วย น้ำหนักตัวของผู้ป่วย และอาการไม่พึงประสงค์จากยาด้วย ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ขนาดยานี้ที่แตกต่างไปจากจากขนาดยาที่แนะนำข้างต้นได้

ขนาดยาธาลิโดไมด์ในข้อบ่งใช้ที่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Off-label use): ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษาในการกำหนดขนาดยา ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายของผู้ป่วย น้ำหนักตัวของผู้ป่วย และอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยานี้ด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาธาลิโดไมด์ ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการ แพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากกำลังใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า/ยาต้านเศร้า ยาช่วยในการนอนหลับ/ยานอนหลับกลุ่มบาร์บิทูเรตส์ (Barbiturates) ยาต้านอาการกังวล/ยาคลายกังวล ยาต้านชัก ยารักษาโรคจิตเภท ยารักษาโรคมะเร็งทุกชนิด
  • ประวัติอาการเจ็บป่วยและประวัติโรคต่างๆ เช่น โรคติดเชื้อเอชไอวี โรคเอดส์ มีเม็ดเลือดขาวต่ำ โรคมะเร็ง โรคลมชัก โรคติดเชื้ออื่นๆ โรคงูสวัด โรคอีสุกอีใส
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาธาลิโดไมด์ควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาธาลิโดไมด์ ให้ทานทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับการทานยามื้อถัดไป หรือน้อยกว่า 12 ชั่วโมงก่อนทานยามื้อถัดไป ให้ข้ามมื้อยาที่ลืมนั้นไป และให้ทานยาในมื้อถัดไปตามขนาดเดิม โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าเพื่อชดเชยมื้อยาที่ลืมรับประทาน และควรแจ้งให้แพทย์ทราบในนัดหมายครั้งต่อไปด้วย เพื่อแพทย์ประเมินผลการรักษาได้ถูกต้อง

ยาธาลิโดไมด์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างไรบ้าง?

ยาธาลิโดไมด์อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น ง่วงนอน วิงเวียน สับสัน วิตกกังวล อารมณเปลี่ยนไป/อารมณ์แปรปรวน ปวดกระดูก ปวดข้อ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เอเจียน ปากแห้ง ผิวแห้ง ความอยากอาหารเปลี่ยนไป รู้สึกแสบบริเวณปลายมือปลายเท้า อาการท้องผูกซึ่งอาจเป็นอาการเรื้อรังได้ โดยหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ทุเลาลง หรือมีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรพบ แพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

หากรับประทานยาธาลิโดไมด์ แล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่มีความรุนแรง เช่น เกิดอาการเหมือนติดเชื้อ เจ็บป่วยบ่อยครั้ง (มีไข้ เจ็บคอ ไอ หนาวสั่น เป็นต้น) รู้สึกว่าการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป เกิดโรคลมชักขึ้นหลังจากเริ่มรับประทานยา ต้องเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน รวมถึงหากรับประทานยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น การเกิดผื่นคันขึ้นตามตัว เกิดใบหน้า ริมฝีปาก หรือเปลือกตาบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยานี้ และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อนึ่ง ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่า ยานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลทันที หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาธาลิโดไมด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาธาลิโดไมด์ เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์โดยเด็ดขาด
  • ห้ามบริจาคเลือดขณะใช้ยานี้โดยเด็ดขาด
  • ผู้ป่วยหญิงที่ใช้ยานี้ ควรเริ่มการคุมกำเนิดโดยใช้วิธีการคุมกำเนิดที่แพทแนะนำอย่างน้อย 2 วิธีร่วมกันก่อนการเริ่มใช้ยานี้อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และต้องคุมกำเนิดตลอดระยะเวลาการใช้ยานี้ และต่อเนื่องภายหลังการใช้ยานี้ไปแล้วอีกอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยที่เลือกวิธีการคุมกำเนิดด้วยยาเม็ดคุมกำเนิดควรทราบว่ามียาหลายชนิดทีทำให้ประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิดลดลง ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการตั้งครรภ์ได้ ผู้ป่วยจึงควรสอบถามหรือแจ้งให้เแพทย์และเภสัชกรทราบ ถึงยาทุกชนิดที่ผู้ป่วยใช้อยู่เพื่อป้องกันปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นกับยาต่างๆที่ใช้ร่วมกัน
  • ผู้ป่วยควรได้รับการทดสอบ/การตรวจการตั้งครรภ์ และได้ผลลบอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเนื่องกันก่อนการเริ่มใช้ยานี้
  • หากสงสัยว่าเกิดการตั้งครรภ์ หรือประจำเดือนหายไปในช่วงระหว่างการใช้ยานี้ ให้หยุดใช้ยาธาลิโดไมด์นี้ และรีบเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที
  • ผู้ป่วยชายที่ใช้ยาธาลิโดไมด์ ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดด้วยถุงยางอนามัยชายตามที่แพทย์แนะนำ หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับหญิงมีครรภ์หรือการมีเพศสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ ตลอดระยะเวลาการใช้ยานี้ และภายหลังการหยุดยานี้ไปแล้วอีกอย่างน้อย 4สัปดาห์ ผู้ป่วยชายควรตระหนักว่ายานี้จะก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ และสามารถพบยานี้ในน้ำอสุจิของผู้ป่วยชายที่ใช้ยานี้อยู่
  • ไม่บริจาคน้ำอสุจิในกรณีใดๆทั้งสิ้น
  • ห้ามใช้ยานี้ในสตรีที่กำลังให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการขับรถ ควบคุมเครื่องจักรกล หรือทำงานที่เสี่ยงอันตรายเนื่องจากยานี้อาจะทำให้เกิดอาการง่วงนอน จนอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งเสริมให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้
  • ยาธาลิโอไมด์อาจก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน มึนงง หรือรู้สึกคล้ายจะเป็นลมได้ หากลุกขึ้นจากเตียงหรือเปลี่ยนท่าทางเร็วเกินไป เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงนี้ ผู้ใช้ยาควรเปลี่ยนท่าทาง หรือลุกขึ้นจากเตียงช้าๆหลังการนอนหลับ อาจนั่งบนเตียงซักพัก 2-3 นาที ก่อนจะลุกขึ้นจากเตียง
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเลือดวัด ระดับไทรอยด์ฮอร์โมน ดูการทำงานของตับ ทดสอบการตั้งครรภ์ อย่างสม่ำเสมอระหว่างการใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ ถึงแม้จะป่วยเป็นโรคเดียวกัน หรือมีอาการเหมือนกันก็ตาม
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาที่หมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาธาลิโดไมด์) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาธาลิโดไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาธาลิโดไมด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ ดังต่อไปนี้ เช่น

ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต่อไปนี้ ร่วมกับยาธาลิโดไมด์

  • ยาอะบาทาเซปต์ (Abatacept), ยาอะนาคินรา (Anakinra), ยาคานาคินูแมบ (Canakinumab), เนื่องจากยาธาลิโดไมด์จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดพิษของยาอะบาทาเซปต์ ยาอะนาคินรา ยาคานาคินูแมบ และยังเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อชนิดที่ร้ายแรง
  • บีซีจี (BCG) เนื่องจากยาธาลิโดไมด์จะทำให้ฤทธิ์ของบีซีจีลดลงหรือหมดไป
  • ยาเซอร์โทลิซูแมบ (Certolizumab) และยานาทาลิซูแมบ (Natalizumab) เนื่องจากยาธาลิโดไมด์จะเพิ่มฤทธิ์การกดภูมิคุ้มกันของยาเซอร์โทลิซูแมบและยานาทาลิซูแมบ
  • ยาริโลนาเซปต์ (Rilonacept) เนื่องจากยาธาลิโดไมด์จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการข้างเคียงจากยาหรือพิษจากยาริโลนาเซปต์มากยิ่งขึ้น
  • วัคซีนเชื้อเป็นทุกชนิด เนื่องจากยาธาลิโดไมด์อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนนั้น และวัคซีนเองไม่สามารถออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่เนื่องจากยาธาลิโดไมด์ควบคุมการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ข. ยาธาลิโดไมด์อาจเพิ่มฤทธิ์ของยาบางชนิด ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดพิษจากยานั้นๆมากยิ่งขึ้น เช่น ยาในกลุ่มยาต้านซึมเศร้า ยาโซลิโดรนิกเอซิด (Zoedronic Acid)ซึ่งเป็นยารักษาโรคกระดูกพรุน เป็นต้น จึงไม่ควรใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาธาลิโดไมด์

ค. ยาบางชนิดสามารถเพิ่มระดับยาหรือเพิ่มฤทธิ์ของยาธาลิโดไมด์ได้ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือพิษจากยาธาลิโดไมด์ เช่น ยาเสตียรอยด์ (เช่นยา เด็กซาเมธาโซน/Dexamethasone) ยาเมโธไทเมพราซีน (Methotrimeprazine)ที่ใช้ในการรักษาโรคจิตเภท และยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม จึงไม่ควรใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาธาลิโดไมด์

ง. ยาบางชนิดสามารถลดประสิทธิผลของยาธาลิโดไมด์ได้ ทำให้การรักษาอาจไม่ประสบความสำเร็จหรือต้องใช้ระยะเวลาที่นานขึ้น เช่น ยาสมุนไพรเอไคนาเซีย (Echinacea) จึงไม่ควรใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาธาลิโดไมด์

ควรเก็บรักษายาธาลิโดไมด์อย่างไร?

ควรเก็บรักษายาธาลิโดไมด์ในที่อุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ในสถานที่แห้ง/มีความชื้นน้อย หลีกเลี่ยงการเก็บรักษาในที่ที่มีแสงแดดส่องได้โดยตรง และเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาธาลิโดไมด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาธาลิโดไมด์มีชื่อการค้าเมื่อออกจำหน่ายในครั้งแรกว่า “คอนเทอร์กัน (Contergan)” ปัจจุบันที่มีการจัดจำหน่ายในประเทศไทย มีชื่อการค้าว่า ธาลิโดไมด์เซลจีน (Thalidomide Celgene) ผลิตโดยบริษัทเพนน ฟาร์มาซูติคอลเซอร์วิสต์(Penn Pharmaceuticals Service) สหราชอาณาจักร

วิกฤตการณ์ทารกพิการจากยาธาลิโดไมด์

ยาธาลิโดไมด์ได้รับการจำหน่ายครั้งแรกในราวปี ค.ศ. 1957 โดยมีการแสดงสรรพคุณว่าเป็นยาช่วยในการนอนหลับ/ยานอนหลับ แก้อาการกังวล/ยาคลายกังวล ปวดศีรษะ และสามารถใช้เพื่อลดการอาเจียนจากการแพ้ท้องได้ ทำให้เป็นยาที่ได้รับความนิยมในฐานะเป็นยามหัศจรรย์ (Wonder Drug) และเป็นยาที่มีความปลอดภัย หลังจากนั้น พบว่าสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ที่รับประทานยานี้ขณะตั้งครรภ์ เด็กทารกที่เกิดมามีสภาพที่พิการ/ความพิการแต่กำเนิด ที่เรียกว่า โฟโคมีเลีย (Phocomelia)คือเด็กที่ไม่มี มือ เท้า อวัยวะบางส่วนงอกไม่เต็มที่ เนื่องจากความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเภสัชศาสตร์ในขณะนั้นยังไม่มีความก้าวหน้าอย่างในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์หลายท่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับการที่ยานี้จะสามารถผ่านรกและก่อให้เกิดอันตรายแก่ทารกในครรภ์ได้ จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เด็กทารกกว่า 10,000 รายเกิดมาพิการ และเด็กกว่า 2,000 คนเสียชีวิต ซึ่งนับเป็นโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ในวงการแพทย์และอุตสาหกรรมการพัฒนายา

จากจุดนี้เอง ทำให้หลายประเทศ วางข้อกำหนดการศึกษาวิจัยและพัฒนายาต่างๆ ก่อนการนำมาขึ้นทะเบียนและนำมาใช้กับผู้ป่วยจริงอย่างเป็นระบบ การทดสอบในสัตว์ทดลองชั้นพรีคลินิก(Preclinic phase) และในชั้นคลินิก(Clinic phase)ที่ใช้กับมนุษย์เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ยาต่างๆมีประสิทธิผลและมีความปลอดภัย

บรรณานุกรม

  1. Drug Information Handbook. Thalidomide. American Pharmacists Association. 19;2010:1510-2.
  2. MedlinePlus. Thalidomide. U.S. National Library of Medicine. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a699032.html[2017,March11]
  3. ยาแก้แพ้ท้อง ต้นเหตุทารกพิการ. หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 1 กันยายน 2555 http://www.komchadluek.net/news/detail/139087[2017,March11]
  4. Teo SK, Colburn WA, Tracewell WG, Kook KA, Stirling DI, Jaworsky MS, Scheffler MA, Thomas SD, Laskin OL. Clinical pharmacokinetics of thalidomide. Clin Pharmacokinet. 2004;43 (5): 311–27.
  5. Thalidomide; The Canadian Tragedy http://www.thalidomide.ca/the-canadian-tragedy/ [2017,March11]
  6. Thalidomide Clegene 50MG SPC.http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/21005[2017,March11]
  7. ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา