ท้องร่วงเพราะไวรัสโรต้า (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ท้องร่วงเพราะไวรัสโรต้า

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนี้ ได้แก่ เด็กอายุ 3-35 เดือน ส่วนผู้ใหญจะได้แก่ ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลเด็ก โดยจะมีความเสี่ยงมากในหน้าหนาว

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีเฉพาะในการรักษาโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) และ ยาต้านไว้รัส (Antivirals) ไม่สามารถช่วยรักษาโรคนี้ได้ หรือแม้แต่ยาแก้ท้องเสีย (Anti-diarrheal medications) ก็ไม่แนะนำให้ใช้กับโรคนี้ เพราะโรคมักจะหายใน 3-7 วัน

สิ่งสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคนี้ก็คือ การป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งการป้องกันภาวะขาดน้ำที่ดี ก็คือ การดื่มน้ำให้มาก เช่น น้ำผสมผงเกลือแร่โออาร์เอส (Oral rehydration solutions = ORS) และหากมีอาการขาดน้ำรุนแรงอาจต้องมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือด (Intravenous = IV)

สำหรับการป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้าสามารถทำได้ง่ายด้วยการมีสุขอนามัยที่ดี เช่น การล้างมือและรักษาความสะอาด ส่วนเด็กเล็กจะมีการให้วัคซีนป้องกันทางปาก (Rotavirus vaccines) ดังนี้

  • RotaTeq® (RV5) ให้ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน, 4 เดือน และ 6 เดือน หรือ
  • Rotarix® (RV1) ให้ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน และ 4 เดือน

ทั้งนี้ วัคซีนทั้ง 2 ตัว จะให้ผลได้ดี หากมีการให้เด็กครั้งแรกก่อนที่เด็กจะอายุ 15 สัปดาห์ และควรให้วัคซีนครบทั้งหมดก่อนเด็กอายุ 8 เดือน

โดยวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้าจะไม่สามารถป้องกันโรคท้องร่วงหรืออาเจียนที่เกิดจากไวรัสหรือเชื้อชนิดอื่นได้

อย่างไรก็ดี ไม่ควรให้วัคซีนกับทารกที่มีลักษณะดังต่อไป

  • ทารกที่มีอาการแพ้วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้าอย่างรุนแรงเมื่อได้รับวัคซีนครั้งแรก
  • ทารกที่มีอาการแพ้ส่วนผสมที่มีในวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากไวรัสโรต้า
  • ทารกที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Severe combined immunodeficiency = SCID)
  • ทารกที่มีภาวะลำไส้กลืนกัน (Intussusception - เป็นการที่ลำไส้เล็กส่วนหนึ่งม้วนตัว เข้าไปอยู่ในอีกส่วนหนึ่งของลำไส้ ทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ เป็นภาวะผิดปกติที่อาจพบได้และมักเป็นในเด็กเล็ก)
  • ทารกที่มีอาการป่วยปานกลางหรือป่วยรุนแรง ควรรอจนอาการดีขึ้นก่อนจึงค่อยให้วัคซีน
  • ทารกที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อเฮชไอวี/เอดส์ หรือมีการใช้ยาสเตียรอยด์ เป็นต้น

อนึ่ง โรคท้องร่วงจากโรต้าไวรัส (Rotavirus) มักเกิดในเด็กเล็ก ต่างจากโรคท้องร่วงจากโนโรไวรัส (Norovirus) ที่มักเกิดในผู้ใหญ่ แต่ทั้งคู่มีการติดเชื้อและแพร่กระจายได้เร็ว

บรรณานุกรม

1. Rotavirus. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/rotavirus/home/ovc-20186926 [2017, January 16].

2. Rotavirus Infection. http://www.medicinenet.com/rotavirus/article.htm [2017, January 16].

3. Rotavirus. https://www.cdc.gov/rotavirus/about/index.html [2017, January 16].