ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทาบรัศมีต่างชาติ (ตอนที่ 5 ตอนจบ)

ภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือเชิงการแพทย์ (Health or medical tourism) มิได้เป็นภาพบวกเสมอไป ในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีมาตรฐานคุณภาพสูง มองการท่องเที่ยวนี้ ว่ามีความเสี่ยงไม่น้อย โดยเฉพาะประเทศที่ให้บริการ อาจมีปัญหาทางด้านการเมือง [เศรษฐกิจ และสังคม] ซึ่งมักมีผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม

ความเสี่ยงเฉพาะของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ และแต่ละหัตถการ แต่ประเด็นทั่วๆ ไป ซึ่งศูนย์การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) ได้แยกแยะไว้ ดังต่อไปนี้

  • การสื่อสารอาจเป็นปัญหา การเข้ารับบริการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลที่อาจไม่สามารถพูดภาษาท้องถิ่นเดียวกับผู้ป่วยได้อย่างคล่องแคล่ว อาจเพิ่มโอกาสเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ
  • แพทย์หรือพยาบาลอาจใช้เข็มซ้ำกับผู้ป่วยมากกว่า 1 คน หรือมีการฉีดยาอื่นๆ ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจก่อให้เกิดเชื้อ อาทิ ตับอักเสบ (Hepatitis) และเอชไอวี (HIV)
  • โรงพยาบาลที่ให้บริการ อาจมีการจ่ายยาปลอม (Counterfeit medication) หรือด้อยคุณภาพที่ผลิตจากต่างประเทศที่เชื่อถือไม่ได้
  • การดื้อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic resistance ) เป็นปัญหาทั่วโลก การดื้อยาแบคทีเรีย(Resistant bacteria ) อาจเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ มากกว่าประเทศพัฒนาแล้ว
  • คลังเลือดในบางประเทศ อาจได้เลือดการบริจาคหรือซื้อมา โดยยังมิได้กรอง (Screen) มาก่อน อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ (Infection)
  • การเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบินทันทีหลังการผ่าตัด อาจเพิ่มความเสี่ยงของเลือดจับตัวเป็นลิ่ม [และโรคแทรกซ้อน (Complications) อาทิ ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Deep vein thrombosis : DVT) และภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด (Pulmonary embolism) เพื่อลดปัญหาดังกล่าว การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงมักจัดให้ผู้ป่วยได้พักฟื้นระยะเวลาหนึ่งในประเทศที่ให้บริการดูแลสุขภาพ ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศตนเอง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา ดังนี้

  • ก่อนการวางแผนกิจกรรมท่องเที่ยวและพักผ่อน ต้องปรึกษาแพทย์ในเรื่องการอาบแดด (Sunbathing) การดื่มแอลกอฮอล์ การว่ายน้ำ หรือการเดินทางหลายชั่วโมง ว่ามีอะไรที่เป็นข้อห้าม หรือข้อพึงระวัง
  • บางประเทศ อาทิ อินเดีย มาเลเซีย หรือประเทศไทย มีการโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาด (Epidemiology) แตกต่างจากยุโรปและอเมริกาเหนือ การเปิดโอกาสให้เชื้อโรควิวัฒนา โดยไม่มีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เป็นอันตรายที่จะทำให้ผู้ป่วยอ่อนแอลง จนเป็นสาเหตุของโรคทางเดินอาหาร (Gastrointestinal diseases)
  • ในบางกรณี ผู้ป่วยชาวตะวันตก อาจได้รับการวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อกลับไปประเทศของตน เนื่องจาก โรคติดเชื้อดังกล่าว อาจถูกจัดกลุ่มให้เป็นโรคเกิดขึ้นได้ยาก (Rare case) ในประเทศที่พัฒนาแล้ว
  • คุณภาพหลังการผ่าตัด อาจขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลและแต่ละประเทศ ซึ่งอาจแตกต่างกันระหว่างปฏิบัติการในเรื่องมาตรฐานสหรัฐอเมริกากับยุโรป เมื่อเปรียบเทียบกับปฏิบัติการในอินเดีย จีน และไทย ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Medical tourism. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_tourism [2012, September 20].
  2. Medical Tourism - Getting Medical Care in Another Country. http://www.cdc.gov/Features/MedicalTourism/ [2012, September 20].