ทีบี ในวันนี้ (ตอนที่ 7 และตอนจบ)

ทีบีในวันนี้

การรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก (ในสหรัฐอเมริกา มีการประเมินค่ารักษาวัณโรคปกติเฉลี่ยในปี พ.ศ.2557 อยู่ที่ประมาณ USD17,000 และเพิ่มเป็น USD482,000 สำหรับกรณีวัณโรคดื้อยา) มีการใช้เวลาในการรักษาที่นานกว่าปกติ (ประมาณ 12-24 เดือน หรือนานกว่า) ทั้งยังทำให้ชีวิตยุ่งยาก และมีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยารักษาวัณโรคดื้อยา ซึ่งได้แก่

  • หดหู่ซึมเศร้า (Depression) หรือเป็นโรคจิต (Psychosis)
  • สูญเสียการได้ยิน (Hearing loss)
  • ตับอักเสบ (Hepatitis)
  • ไตเสื่อม (Kidney impairment)

ในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคมักจะไม่ค่อยใช้การผ่าตัด แต่ก็มีบ้างในกรณีที่เป็นการรักษาวัณโรคดื้อยาร้ายแรง (XDR-TB) หรือโรคแทรกซ้อนของปอดหรือส่วนอื่นของร่างกาย เช่น

  • ซ่อมแซมปอด กรณีมีเลือดออกและไม่สามารถหยุดด้วยวิธีอื่นได้
  • ผ่าเอาส่วนที่เป็นเชื้อแบคทีเรีย (Pocket of bacteria) ที่ไม่สามารถรักษาด้วยยาในระยะยาวออกไป
  • กรณีที่วัณโรคติดเชื้อในส่วนต่างๆ ที่ไม่ใช่ปอด (Extrapulmonary TB) อาจทำการผ่าตัดซ่อมแซมส่วนนั้นๆ เช่น ที่สมอง (TB meningitis) ที่หัวใจ (TB pericarditis) ที่ไต (Renal TB) เป็นต้น

ทั้งนี้ นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ “การบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน” ว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกโดยเฉพาะในประเทศไทย

ซึ่งจากผลสำรวจวัณโรคในประเทศไทยล่าสุด คาดประมาณผู้ป่วยวัณโรครายใหม่อยู่ที่ 113,900 ราย เท่ากับป่วยวันละ 312 ราย หรือ ชั่วโมงละ 13 คน คิดเป็นอัตราป่วย 170 ต่อแสนประชากร และในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่นี้พบว่ามีการขึ้นทะเบียนรับการรักษาเพียงร้อยละ 60 หรือ 67,000 ราย เท่านั้น

นายแพทย์โสภณ ยังกล่าวอีกว่า วัณโรคดื้อยาหลายขนานในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านวัณโรคมาก่อนพบได้ร้อยละ 2 ส่วนผู้ป่วยที่เคยได้รับยาต้านวัณโรคมาก่อนพบเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูงร้อยละ 19 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี

นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาการดื้อยาไปเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก ทำให้ต้องสูญเสียค่ารักษาต่อคอร์สต่อคนสูงกว่าเดิมจาก 200,000 บาท เป็น 1,000,000 บาท

อนึ่ง วันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันวัณโรคโลก” หรือ “World TB Day”

แหล่งข้อมูล

1. Drug-Resistant TB. http://www.cdc.gov/tb/topic/basics/default.htm [2016, March 16].

2. Multidrug-resistant tuberculosis (MDR-TB): epidemiology, prevention and treatment. http://bmb.oxfordjournals.org/content/73-74/1/17.long [2016, March 16].

3. Tuberculosis (TB) - Topic Overview. http://www.webmd.com/lung/tc/tuberculosis-tb-topic-overview [2016, March 16].

4. กรมควบคุมโรค เดินหน้าแก้ปัญหาวัณโรคดื้อยา จับมือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาระดับประเทศ. http://www.tbthailand.org/news_information.php?id=128 [2016, March 16].