ทีบี ในวันนี้ (ตอนที่ 1)

ทีบีในวันนี้

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยวัณโรคสูงอันดับ 16 ของโลก และพบว่าเมืองใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสพบโรคได้สูง และปัจจุบันมีผู้ป่วยวัณโรคเข้าถึงการรักษาเพียงร้อยละ 59 จึงต้องมีการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงให้รับการรักษาต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนจนหายขาด

นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราป่วยของประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุมีโอกาสป่วยมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า และพบในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ เนื่องจากวัณโรคเป็นโรคติดต่อทางลมหายใจ เมื่ออาศัยอยู่ในพื้นที่แออัดร่วมกับผู้ป่วยวัณโรค จึงมีโอกาสสัมผัสและแพร่กระจายโรคได้สูงกว่าปกติ

นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคได้พัฒนาโมเดลการควบคุมวัณโรคในเมืองใหญ่ โดยเริ่มจากพื้นที่แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม สร้างเป็น “บางโคล่โมเดล” ซึ่งจะมีการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในกลุ่มผู้ขับรถสาธารณะ ชุมชนแออัดและสถานประกอบการ โดยมุ่งเน้นการใช้กลไกระบบบริการสาธารณสุข

ส่วนการพัฒนาโมเดลควบคุมวัณโรคจะมีการขยายผลต่อในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และ 5 เมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา ระยอง โดยมีเป้าหมายคือ พัฒนารูปแบบการป้องกันควบคุมโรคภายใต้ 4 มาตรการ คือ

  1. จัดให้มีระบบการคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วยและให้การรักษาผู้ป่วยวัณโรคอย่างต่อเนื่อง
  2. พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารในการดูแลผู้ป่วยวัณโรค
  3. ประเมินผลตามเป้าหมายที่วางไว้
  4. ให้พื้นที่ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมวัณโรคอย่างจริงจัง

วัณโรค (Tuberculosis = TB) หรือที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “ฝีในท้อง” เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Mycobacterium tuberculosis โดยแบคทีเรียตัวนี้มักจะทำลายปอด นอกจากนี้ยังสามารถทำลายอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายด้วย เช่น ไต กระดูกสันหลัง และสมอง เป็นต้น

วัณโรค หากพบเร็วจะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ตรงข้ามหากไม่ทำการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน โดยวัณโรคเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตมากที่สุด ทั้งนี้ มีคนทั่วโลก 1 ใน 3 คนที่ติดเชื้อวัณโรค โดยในปี พ.ศ.2557 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นวัณโรคจำนวน 9.6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตถึง 1.5 ล้านคน โดยเฉพาะผู้ที่ติดเชื้อเฮชไอวี

วัณโรคสามารถแพร่กระจายในอากาศเมื่อผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ไอ จาม ถ่มน้ำลาย หัวเราะ พูด หรือร้องเพลง โดยผู้ที่อยู่ใกล้เคียงอาจจะหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไป ทำให้ติดเชื้อได้ อย่างไรก็ดี ผู้เป็นวัณโรคและได้รับยาที่เหมาะสมอย่างต่ำ 2 สัปดาห์จะไม่เป็นผู้แพร่เชื้อให้ผู้อื่น

แหล่งข้อมูล

1. ชู "บางโคล่โมเดล" ต้นแบบคุมวัณโรค. https://www.thairath.co.th/content/559132 [2016, March 10].

2. Tuberculosis (TB)http://www.cdc.gov/tb/topic/basics/default.htm[2016, March 10].

3. Tuberculosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tuberculosis/home/ovc-20188556[2016, March 10].