ทิชชูเปียกกับจุลินทรีย์ที่ต้องระวัง (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ทิชชูเปียกกับจุลินทรีย์ที่ต้องระวัง

ผู้ป่วยที่อยู่ในโรงพยาบาลอาจติดเชื้อนี้ได้จากอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ น้ำยาขจัดคราบอเนกประสงค์ (Cleaning solutions) และอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งยังสามารถแพร่กระจายผ่านอาหารได้ด้วย เช่น ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ (Pneumonia) อาจติดเชื้อนี้ได้จากการใช้เครื่องช่วยหายใจ (Breathing machines) หรือผู้ป่วยที่มีแผลไฟไหม้และแผลเปิดอาจติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูก หรือ ทางเดินปัสสาวะ เพราะเชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเข็มฉีดเข้าทางหลอดเลือด (IV needles) หรือท่อสวน (Catheters)

ส่วนผู้ที่มีสุขภาพปกติมักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา หรืออาจจะมีปัญหาเพียงเล็กน้อย ทำให้มีไข้อ่อนๆ เช่น เด็กที่ว่ายน้ำในสระที่มีเชื้ออาจมีการติดเชื้อที่หู ผิวหนัง หรือ ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์อาจมีการติดเชื้อที่ตา

อาการที่ปรากฏจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ติดเชื้อ เช่น ถ้าติดเชื้อที่บาดแผล ก็จะทำให้มีหนองสีเขียวปนน้ำเงิน (Green-blue pus) รอบๆ หรือในบริเวณแผล หรือหากติดเชื้อบริเวณอื่นก็อาจทำให้มีไข้และรู้สึกเพลีย ทั้งนี้ อาการจะแย่ลงหากมีการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด (Septicemia) ซึ่งจะทำให้มีไข้สูง หนาวสั่น งุนงง และช็อคได้

การรักษาหลักๆ คือ การให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) แต่น่าเสียดายที่เชื้อนี้มักดื้อยา ดังนั้นการเลือกยาปฏิชีวนะให้ถูกกับผู้ป่วยจึงต้องมีการนำตัวอย่างของผู้ป่วยส่งไปยังห้องแล็ปเพื่อทดสอบว่า ยาปฏิชีวนะตัวไหนที่เหมาะในการรักษาการติดเชื้อนั้น

นอกจากนี้ บางกรณีอาจรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อออกไปเลย

สำหรับการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายเชื้อ สามารถทำได้ด้วยการ

  • มีสุขอนามัยที่ดี (Practice good hygiene)
    • ล้างมือให้สะอาดอยู่บ่อยๆ เพราะการล้างมือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการแพร่เชื้อ ซื่งทางที่ดีที่สุดคือ การล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ หรืออย่างน้อยก็ใช้เจลแอลกอฮล์ล้างมือ (Alcohol-based hand sanitizer)
    • ปกปิดบาดแผลให้สะอาดเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบาดแผลของผู้อื่น
    • อย่าใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หรือ ใบมีดโกน
    • รักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดด้วยการเช็ดบริเวณพื้นผิวในจุดที่ต้องสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ลูกบิดประตู สวิทช์ไฟ เป็นต้น
    • สำหรับผู้ที่ทำงานในโรงพยาบาล เช่น แพทย์ พยาบาล ควรล้างมือให้สะอาดก่อนสัมผัสกับตัวผู้ป่วย
  • มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ
    • รู้ว่ายาปฏิชีวนะใช้รักษาการติดเชื้อที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถใช้รักษาการติดเชื้อที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส
    • กินยาตามแพทย์สั่ง เพราะการกินเพียงบางส่วนหรือกินไม่ครบคอร์สอาจเป็นสาเหตุทำให้เชื้อดื้อยา
    • อย่าใช้ยาปฏิชีวนะของผู้อื่น

บรรณานุกรม

1. Pseudomonas Infection - Topic Overview. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/tc/pseudomonas-infection-topic-overview#1 [2017, March 21].

2. Pseudomonas aeruginosa in Healthcare Settings. http://www.cdc.gov/hai/organisms/pseudomonas.html [2017, March 21].