ทำไมจึงด่างขาว ? (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

ทำไมจึงด่างขาว

นอกจากนี้ การผ่าตัดอาจเป็นทางเลือกหากการรักษาด้วยแสงและยาไม่ได้ผล ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สีผิวกลับคืนสู่ปกติ โดยมีวิธีดังนี้

  • การปลูกผิวหนัง (Autologous Skin grafting) เป็นการซ่อมแซมโดยตัดผิวหนังจากส่วนอื่นตรงไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นแขน ท้องแขน ต้นขา หรือแม้แต่ผิวหนังของก้นก็ได้ มาปะผิวหนังบริเวณที่สีผิวถูกทำลายไป ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ การติดเชื้อ เป็นแผลเป็น สีเป็นจุดๆ (Spotty color) และไม่ติดสี
  • การปลูกตุ่ม (Blister grafting) ในขั้นตอนนี้แพทย์จะสร้างตุ่มขึ้นมาในบริเวณสีผิวปกติด้วยการใช้ความร้อน เครื่องดูด (Suction) และการแช่แข็ง (Freezing cold) แล้วจึงตัดส่วนบนของตุ่มเพื่อนำมาปะบนผิวหนังบริเวณที่สีผิวถูกทำลาย โดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้แก่ การเป็นแผลเป็น ผิวดูเหมือนตะปุ่มตะป่ำ (Cobblestone appearance) และไม่ติดสี
  • การสัก (Tattooing) แบบ Micropigmentation วิธีนี้แพทย์จะใช้เครื่องมือเฉพาะในการปลูกสีผิว ใช้ได้ดีกับบริเวณปากโดยเฉพาะผู้ที่มีสีผิวเข้ม แต่มีข้อด้อยตรงที่สีอาจไม่เข้ากับสีผิวเดิม รอยสักอาจจางไป และการที่ผิวหนังถูกทำลายจากการสักอาจจะทำให้เกิดจุดด่างขาวอื่นอีก
  • การปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสี (Autologous melanocyte transplants) วิธีนี้แพทย์จะเอาตัวอย่างของเม็ดสีไปเพาะในห้องแล็ปเพื่อให้ได้เซลล์สร้างสีผิว (Melanocytes) แล้วจึงนำมาปลูกบนผิวบริเวณที่มีรอยด่างขาว อย่างไรก็ดีวิธีนี้อยู่ระหว่างการทดลองและยังไม่แนะนำให้ใช้กัน เพราะมีราคาแพงและยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

สำหรับเทคนิคการดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคด่างขาว มีดังนี้

  • ปกป้องผิวจากแสงแดดและแสงยูวีที่เกิดจากแหล่งอื่น ด้วยการใส่เสื้อปิดกันแดด ควรใช้ครีมกันกันแดดที่มีค่า SPF อย่างน้อย 30 และทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง เพราะการถูกแดดเผาจะทำให้อาการแย่ลง
  • ใช้เครื่องสำอางช่วยปกปิดรอย เช่น การแต่งหน้า (Make-up) การใช้โลชั่นให้ผิวสีแทน (Self-tanning lotions)
  • หลีกเลี่ยงการสักทั้งหลายที่ไม่ได้เป็นไปเพื่อการรักษาด่างขาว เพราะการทำลายผิวดังกล่าวอาจก่อให้เกิดรอยด่างขาวใหม่ภายใน 2 สัปดาห์

ผศ.นพ.วาสนภ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า โรคด่างขาวหากเป็นมาไม่นาน จะมีการตอบสนองต่อการรักษาดีกว่ารายที่เป็นมานานแล้ว เนื่องจากเซลล์เม็ดสียังไม่ถูกทำลายไปมาก หากเป็นมานานเซลล์เม็ดสีถูกทำลายไปมาก อาจต้องใช้เวลารักษานานขึ้น และต้องใช้การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่จำเป็น จึงแนะนำว่าหากเริ่มเป็น อย่ารีรอที่จะรักษา เพราะเซลล์เม็ดสีจะถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน

นอกจากนี้บางรายโรคด่างขาวหายขาดและไม่กลับมาเป็นอีก ในขณะที่บางรายเมื่อหายแล้วกลับมาเป็นใหม่ได้ที่จุดอื่น ผศ.นพ.วาสนภ จึงแนะนำว่าเมื่อหายแล้วก็ยังคงต้องหมั่นสำรวจร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีรอยขาวขึ้นในตำแหน่งใหม่หรือไม่ หากพบรอยขาวที่ตำแหน่งใหม่ก็ควรรีบรักษาเพื่อไม่ให้เซลล์เม็ดสีถูกทำลายไปมากจนสายเกิแก้

  1. Vitiligo. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vitiligo/basics/definition/con-20032007 [2015, July 10].
  2. Vitiligo. http://www.niams.nih.gov/health_info/vitiligo/vitiligo_ff.asp [2015, July 10]. Vitiligo. http://www.niams.nih.gov/health_info/vitiligo/ [2015, July 10].