ทางออกสำหรับผู้ตามใจปากตัวเองมากเกินไป (ตอนที่ 1)

  • อาหาร: จะทำอย่างไร เมื่อคุณรับประทานอาหารมากเกินไปจนจุกท้อง? แพทริเชีย เรย์มอนด์ แพทย์โรคทางเดินอาหาร ให้คำแนะนำว่า คุณต้องรอให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารหมดเสียก่อน ถึงจะรู้สึกสบายท้องอีกครั้ง ข้อสำคัญ คุณต้องไม่เอนตัวลงนอนราบ เพราะเมื่อคุณอิ่มแปล้ การนอนราบจะทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร เกิดอาการแสบร้อนกลางอก (Heart burn) ดังนั้นคุณควรจะนั่ง หรือ ยืน เป็นเวลา 3 – 4 ชั่วโมงหลังอาหาร

    การเดินสัก 30 นาที จะช่วยให้กระเพาะย่อยอาหารได้เร็วขึ้น แต่อย่าใช้กำลังวังชามากเกินไป เพราะจะทำให้กรดในกระเพาะไหลย้อนเข้าหลอดอาหารและย้อนขึ้นไปถึงลำคอ ควรหลีกเลี่ยงบรรดายาลดกรดทั้งหลาย เพราะกระบวนการลบล้างกรด อาจจะไปสร้างกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้นอีก ยกเว้นบางยี่ห้อ ที่มีส่วนผสมของยาชนิดที่ช่วยสร้างผนังกั้นระหว่างกรดนี้กับหลอดอาหาร และจงขยับเข็มขัดให้หลวมๆ มิฉะนั้นแรงกดดันจะทำให้กรดในกระเพาะนี้ไหลย้อนเข้าหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น เพิ่มอาการแสบร้อนกลางอกให้มากขึ้น

  • เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์: จะทำอย่างไร เมื่อคุณดื่มจนมึนเมา? จงส่งกุญแจรถของคุณให้เพื่อนที่ยังมีสติอยู่ช่วยขับ เรียกแท็กซี่ หรืออยู่ค้างคืนณที่นั้น เพราะคงต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมงก่อนที่คุณจะส่างเมาและได้สติคืนมา พญ. แพทริเชีย อธิบายว่า ไม่มีวิธีใดทางการแพทย์ที่จะเร่งถอนพิษสุรา หรือรักษาอาการเมาค้าง ภูมิปัญญาชาวบ้าน อาจมีมากมาย แต่ไม่ได้ผลเท่ากับสิ่งบรรเทาอาการดังต่อไปนี้

    ก่อนเข้านอน จงดื่มน้ำมากๆ เพื่อต้านผลกระทบจากการขาดน้ำ อันสืบเนื่องจากสาร Ethanol ในเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มอุณหภูมิสูง หรือต่ำกว่าปกติ อาทิ ชาร้อน หรือน้ำผลไม้เย็นจัด ซึ่งสามารถทำให้กระเพาะปั่นป่วนได้ จงรับประทานอาหารอ่อนประเภทแป้ง อาทิ ขนมปังปิ้ง เพื่อบรรเทาความปั่นป่วนของกระเพาะ หรือกินยาแก้ปวดเมื่อปวดศีรษะ อาทิ แอสไพริน หรือ ไอบรูโปรเฟน แต่จงหลีกเลี่ยงยาประเภท Acetaminophen หรือที่บ้านเราเรียกว่า ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ซึ่งจะทำลายตับ หากเข้าไปผสมกับแอลกอฮอล์ในกระเพาะ

“ตามใจปาก ลำบากท้อง” คำพังเพยไทยมาแต่โบราณที่ยังใช้ได้ดีกับทั้ง 2 กรณีข้างต้น โดยในกรณีแรก การยาตราเข้ามาเมืองไทยของบรรดาอาหารจานด่วน (Fast food) ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภค “อาหารขยะ” (Junk food) ในหมู่วัยรุ่นได้วิวัฒนาการจาก “ความอ้วน” จนปัจจุบันกลายมาเป็น “โรคอ้วน” (Obesity) ส่วนในกรณีที่ 2 การขยายตัวของ “น้ำเมา” ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ หรือเหล้าไวน์ ก็เพิ่มอัตราเติบโตอย่างน่ากลัว จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเงาตามตัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส) จึงต้องออกมารณรงค์ “เมาไม่ขับ [เพราะจะ] หลับไม่ตื่น”

แหล่งข้อมูล: Dr. Patricia Raymond ใน http://www.foxnews.com/health/2011/09/26/solutions-for-everyday-overindulging/ [30 กันยายน 2554].