ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงในประเทศไทย โรคใน ระยะแรกอาจพบ มีก้อนที่เต้านมหรือมีการเปลี่ยนแปลงขนาดและรูปร่างของเต้านมรวมถึงมีของเหลวไหลออกจากหัวนม การรักษามะเร็งเต้านมมีหลายวิธีขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษาต่อผู้ป่วยเฉพาะรายไปทั้ง การผ่าตัด การใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง, ยาเคมีบำบัด, และ/หรือการฉายรังสีรักษา

ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) คือ ยาที่มีความจำเพาะกับตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อเฮอร์ทู/HER-2 (Human epidermal growth factor receptor 2, HER-2 positive/HER-2+/เฮอร์ทูบวก) ซึ่งเป็นตัวรับที่พบได้ในเซลล์มะเร็งเต้านมบางชนิดย่อย มีบทบาทสำคัญในการ กระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง โดยยานี้จะไปยับยั้งการกระตุ้นฯทำให้ลดการขยายตัว/แบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง

ยาทราสทูซูแมบ เป็นยาชีววัตถุ (Biotechnology drug) กล่าวคือเป็นยาที่ผลิตขึ้นจากสิ่ง มีชีวิต ในที่นี้ยาทราสทูซูแมบได้จากการสกัดของสารโปรตีนจากเซลล์รังไข่ของหนู/แฮมสเตอร์ (Chinese hamster)

ยาทราสทูซูแมบ เป็นยาควบคุมพิเศษตามกฎหมายของไทย ใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์ เท่านั้น และยังเป็นหนึ่งในยาสำคัญในบัญชียาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก

ยาทราสทูซูแมบมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ทราสทูซูแมบ

ยาทราสทูซูแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษา: เช่น

1. มะเร็งเต้านมในระยะแพร่กระจาย (Metastatic Breast Cancer) อาจใช้เป็นยาเดี่ยวหรือยาเสริมการรักษาหรือใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิดอื่น เช่นยากลุ่ม แท็กเซน (เช่นยา Paclitaxel) เป็นต้น โดยเฉพาะในมะเร็งเต้านมที่ตรวจพบว่ามีตัวรับ HER-2 (Human epidermal growth factor receptor 2) เท่านั้น

2. มะเร็งกระเพาะอาหารโดยใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดชนิดอื่นหรือใช้เป็นยาเสริมการรักษา

ยาทราสทูซูแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ที่ผิวของเซลล์มะเร็งเต้านมบางชนิดย่อยจะมีตัวรับซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งเรียกว่า HER-2 (Human epidermal growth factor receptor 2) ซึ่งหากมีการกระตุ้นตัวรับนี้จะทำให้กระ บวนการแบ่งเซลล์มะเร็งดำเนินไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นทำให้มะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นและเกิดการแพร่กระจาย

ยาทราสทูซูแมบจะเข้าจับกับตัวรับ HER-2 อย่างจำเพาะเมื่อเข้าจับกับตัวรับที่เซลล์ใด้แล้วก็จะทำให้การแบ่งเซลล์ของเซลล์มะเร็งนั้นๆลดลง

ยาทราสทูซูแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทราสทูซูแมบมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์:

  • ยาผงพร้อมผสม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) เพื่อเป็นยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดความแรง 150 และ 440 มิลลิกรัมต่อภาชนะบรรจุ (Vial)

ยาทราสทูซูแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการบริหาร/ใช้ยาทราสทูซูแมบขึ้นอยู่กับข้อบ่งใช้ยา,และน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาจากผู้ป่วยเฉพาะรายไป

โดยทั่วไปสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม การให้ยานี้จะให้สัปดาห์ละ 1 ครั้งในช่วงเริ่มต้นการรักษาหรือระหว่างการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดชนิดอื่น และหลังจากนั้นแพทย์อาจพิจารณาปรับการรับยานี้เป็นทุกๆ 3 สัปดาห์ไปจนกว่าจะครบรอบการรักษาซึ่งทั่วไปอยู่ที่ 52 สัปดาห์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทราสทูซูแมบ ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงจากการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่’หัวข้อ ยาทราสทูซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?’)
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบประวัติโรค, โรคที่กำลังเป็นอยู่, และโรคเรื้อรังโดยเฉพาะ โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคปอด, หรือ อยู่ระหว่างการรักษาด้วยรังสีบำบัด/รังสีรักษา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • แจ้งให้ทันตแพทย์ทราบหากต้องเข้ารับการผ่าตัดในช่องปาก

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมเข้ารับการบริหารยาทราสทูซูแมบ ให้รีบติดต่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาโดยทันทีเพื่อนัดหมายเข้ารับการบริหารยา

ยาทราสทูซูแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทราสทูซูแมบอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ปวดท้อง
  • อาการแสบยอดอก
  • สูญเสียการรับรสชาติ
  • ปวดข้อ
  • ปวดกระดูก
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • นอนไม่หลับ
  • ร้อนวูบวาบ
  • มีอาการชา หรือแสบตาม มือ แขน ขา หรือเท้า
  • มีสิว
  • อารมณ์เปลี่ยนไป/อารมณ์แปรปรวน
  • หรือเกิดอาการซึมเศร้า

*อนึ่ง:

  • *หากอาการดังกล่าวเหล่านี้เกิดขึ้น ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นและรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วหรือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและไม่ทุเลาลงควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที
  • *ยาทราสทูซูแมบ อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง เช่น มีอาการเจ็บป่วยบ่อยเหมือนติดเชื้อ เช่น มีไข้, เจ็บคอ, หนาวสั่น, ปัสสาวะลำบากหรือปวดแสบเวลาปัสสาวะ, มีอาการเลือดออกทางจมูก, หรือเกิดรอยจ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง, อ่อนเพลียอย่างรุนแรง, ผิวหนังสีซีดลง, หากเกิดอาการเหล่านี้ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • *รวมไปถึงการใช้ยานี้แล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่นคัน, หนังตาหรือริมฝีปากบวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก, ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉินเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาทราสทูซูแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทราสทูซูแมบ เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยหญิงที่กำลังตั้งครรภ์เนื่องจากยานี้อาจเป็นอันตรายต่อตัวอ่อน/ทารกในครรภ์มารดาได้ ระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วยหญิงควรได้รับการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสม การคุมกำเนิดต้องดำเนินไปจนถึงหลังจากหยุดใช้ยานี้ไปแล้วอย่างน้อย 6 เดือนเพื่อให้แน่ใจว่า ยาได้ถูกขับออกหมดแล้วจากร่างกายผู้ป่วย ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม หากปรากฏว่าเกิดการตั้งครรภ์ขณะกำลังใช้ยาทราสทูซูแมบให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ยานี้อาจส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและของปอด ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้หากมีประวัติเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ/โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคปอด หากหลังรับยานี้แล้วเกิดอาการหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก กลืนลำบาก คลื่นไส้อาเจียน เกิดอาการบวมของแขน มือ เท้า ข้อเท้า หรือน่อง มึนหัว/มึนศีรษะอย่างรุนแรง รู้สึกหัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะไปจากปกติ มีไข้ ให้รีบเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • ควรหลีกเลี่ยงยานี้ในผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร

***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทราสทูซูแมบ) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาทราสทูซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทราสทูซูแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทราสทูซูแมบร่วมกับยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immu nosuppressants) และยาบีลิมูแมบ (Belimumab) ซึ่งเป็นยารักษาโรคภูมิต้านตนเอง/โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี เนื่องจากอาจทำให้ระดับภูมิคุ้มกันฯในร่างกายของผู้ป่วยต่ำลง

ควรเก็บรักษายาทราสทูซูแมบอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาทราสทูซูแมบ:

  • ก่อนการผสมยา ควรเก็บรักษายาในตู้เย็นอุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ภายหลังการผสมยาแล้ว ยาอาจมีความคงตัวในอุณหภูมิระหว่าง 2 - 8 องศาเซลเซียสระยะหนึ่ง ควรปรึกษาฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลถึงนโยบายการเก็บรักษายาที่ผสมแล้วหากมีความจำเป็น
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นแสงแดด ความชื้น และความร้อน
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาทราสทูซูแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทราสทูซูแมบ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
เฮอเซ็พติน (Herceptin)/เฮอร์โคลน (Herclon)บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Trastuzamab. Drug Information Handbook with Trade names index. 23;2014:2129-32
  2. https://www.cancer.gov/about-cancer/treatment/drugs/trastuzumab [2021,Sept11]
  3. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/treatment/targeted-therapy-for-breast-cancer.html [2021,Sept11]
  4. https://www.who.int/groups/expert-committee-on-selection-and-use-of-essential-medicines/essential-medicines-lists [2021,Sept11]
  5. https://www.drugs.com/mtm/trastuzumab.html [2021,Sept11]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Trastuzumab_emtansine [2021,Sept11]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Trastuzumab [2021,Sept11]