ต่อมน้ำลายอุดตัน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ต่อมน้ำลายอุดตัน

สาเหตุของการมีก้อนนิ่ว (Calculi / lithogenesis) น่าจะเกิดจาก

  • ความผิดปกติของ (Calcium metabolism)
  • มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration )
  • น้ำลายไหลในอัตราที่ลดลง
  • มีความเป็นกรดที่เกิดจากการติดเชื้อในช่องปาก (Oropharyngeal infections)
  • การปรับเปลี่ยนสารละลายประเภทน้ำเกลือ (Solubility of crystalloids) ที่ทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุ
  • การกินยาบางชนิด เช่น ยาลดความดัน ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines) ซึ่งทำให้ต่อมน้ำลายผลิตน้ำลายได้น้อยลง
  • กินอาหารไม่พอ ทำให้การผลิตน้ำลายลดลง

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่เชื่อว่า นิ่วนี้เกิดจากเศษอาหาร แบคทีเรียในปาก ที่เข้าไปยังท่อต่อมน้ำลายและถูกดักจับโดยปุ่มลิ้น (Papilla) ซึ่งมีรายงานว่าเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 90

ก้อนนิ่วมักเกิดที่ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร ซึ่งมากกว่าการเกิดนิ่วในต่อมน้ำลายหน้ากกหูถึง 2 เท่า บางครั้งการเกิดนิ่วน้ำลายก็มีความสัมพันธ์กับโรคน้ำลายอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง (Chronic sialadenitis) หรือบางทีก็สัมพันธ์กับการเป็นโรคเกาต์ได้

การวินิจฉัยโรคทำโดยการตรวจประวัติและตรวจกายภาพ ซึ่งสามารถยืนยันผลการตรวจด้วยผลการเอ็กซเรย์ (ร้อยละ 80 สามารถมองเห็นได้จากภาพเอ็กซเรย์) ภาพรังสีท่อน้ำลาย (Sialogram) หรืออัลตราซาวด์

ทางเลือกของการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่

  • การตรวจแบบไม่รุกรานหรือแบบไม่ต้องเจ็บตัว (Non-invasive):
    • ใช้ในกรณีก้อนนิ่วเล็ก เช่น วิธีไฮเดรชั่น (Hydration) ด้วยการดื่มน้ำให้มากเพื่อเพิ่มน้ำลายให้ขับนิ่วออก วิธีใช้ความร้อนชนิดชื้น (Moist heat therapy) วิธีใช้ยาลดการอักเสบ NSAIDs (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs) หรือบางทีก็ให้กินอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีรสขมหรือเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม ซึ่งจะช่วยการหลั่งน้ำลายและช่วยขับก้อนนิ่วออกมา
    • ใช้วิธีการนวดให้ก้อนนิ่วออกโดยผู้เชี่ยวชาญ
    • ใช้การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shock wave therapy / Extracorporeal shock wave lithotripsy = ESWL)
  • แบบรุกรานน้อยที่สุดหรือแบบเจ็บตัวน้อย (Minimally invasive)
    • การส่องกล้องตรวจต่อมน้ำลาย(Sialendoscopy)
  • การผ่าตัด
    • โดยศัลยแพทย์หู คอ จมูก (ENT or oral / maxillofacial surgeon) ใช้วิธีผ่าตัดต่อมน้ำลายเพื่อเอานิ่วออก (Sialectomy)
    • หรือศัลยแพทย์อาจจะกรีดเอาก้อนนิ่วออก
    • กรณีที่เป็นบ่อย อาจมีการตัดท่อน้ำลายทิ้ง
  • การรักษาตามอาการ (Supporting treatment)
    • อาจมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อขณะที่ก้อนนิ่วอยู่ในท่อ

แหล่งข้อมูล

  1. Sialolithiasis. https://en.wikipedia.org/wiki/Sialolithiasis [2015, September 10].
  2. Salivary Duct Stones. http://www.healthline.com/health/salivary-duct-stones#ReadThisNext8 [2015, September 10].
  3. Sialolithiasis. http://radiopaedia.org/articles/sialolithiasis [2015, September 10].