ตาเจ้ากรรมดันขี้เกียจ (ตอนที่ 2)

ตาเจ้ากรรมดันขี้เกียจ

การมองเห็นที่ปกติจะเกิดจากการที่ตาทั้ง 2 ข้าง มีการเห็นที่เท่าเทียมกัน มิฉะนั้นก็มีโอกาสเป็นโรคตาขี้เกียจได้ โดยคนทั่วไปมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ร้อยละ 2-3 ทั้งนี้ โรคตาขี้เกียจที่ไม่ได้รับการรักษาสามารถเป็นสาเหตุให้ตาบอดถาวรได้ ซึ่งพบว่า มีอยู่ถึงร้อยละ 2.9 ของผู้ใหญ่ที่ตาบอด

อาการโดยทั่วไปของโรคตาขี้เกียจ ได้แก่

  • มีการมองเห็นที่แย่ในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งหมด
  • หรี่ตาหรือปิดตา (Squinting) ข้างหนึ่ง หรือเอียงศีรษะ (Head tilting) เพื่อการมองดู
  • ไม่สามารถมองภาพ 3 มิติ ได้อย่างปกติ (Poor depth perception)
  • ตาไม่มีจุดหมาย (An inward- or outward-wandering eye)
  • ปวดศีรษะ

อย่างไรก็ดี บางครั้งโรคตาขี้เกียจอาจไม่ปรากฏอาการก็ได้ ต้องอาศัยการตรวจตาเป็นหลัก ดังนั้น จึงมีคำแนะนำว่า เด็กที่อายุระหว่าง 3-5 ปี ควรได้รับการตรวจตาอย่างละเอียด

สำหรับสาเหตุของโรคตาขี้เกียจนั้น เป็นผลจากพัฒนาการทางสายตาที่ผิดปกติ ทำให้ทางเดินเส้นประสาทระหว่างจอตา (Retina) และสมองเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตาอ่อนแอ เห็นภาพได้น้อยลง จนในที่สุดสมองไม่รับรู้ (Ignore) ถึงการมองเห็นนั้น ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ทำให้การเห็นภาพของเด็กไม่ชัดเป็นสาเหตุของโรคตาขี้เกียจได้ เช่น

  • อาการตาเหล่ (Strabismus) กล้ามเนื้อตาไม่สมดุล
  • จุดรวมแสงไม่เท่ากัน (Unequal focus) และภาวะกำลังหักเหแสงของตาผิดปกติ (Refractive errors)
  • มีความมัวในตา เช่น เป็นต้อกระจก หรืออะไรก็ตามที่ทำให้การรวมแสงไม่ตกบนจอตา ภาพไม่ชัด

โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ ได้แก่

  • ตาเหล่ ตาเข
  • สายตาสั้นหรือสายตายาวอย่างรุนแรงในตาทั้ง 2 ข้าง
  • สายตา 2 ข้าง ไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งอาจสั้นมากกว่าหรือยาวมากกว่าอีกข้างหนึ่ง
  • มีปัญหาเรื่องการที่แสงเข้าตาได้ไม่ปกติ เช่น เป็นต้อกระจกหรือหนังตาตก
  • การคลอดก่อนกำหนด
  • เด็กตัวเล็กตอนคลอด
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคตาขี้เกียจ
  • มีความผิดปกติในด้านพัฒนาการ (Developmental disabilities)

แหล่งข้อมูล

1. Lazy eye (amblyopia). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lazy-eye/home/ovc-20201878 [2016, July 21].

2. Amblyopia: What Is Lazy Eye? http://www.aao.org/eye-health/diseases/amblyopia-lazy-eye [2016, July 21].