ตารางการรับวัคซีน หรือ ตารางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน(Immunization Schedules)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: วัคซีนคืออะไร? ใช้เพื่ออะไร? มีกี่ประเภท?

วัคซีน (Vaccines) คือ สารชีววัตถุ (Biological preparation หรือ Biological product) ที่ได้จากจุลชีพ หรือสารชีวพิษ(Toxin)ของเชื้อโรค เพื่อใช้ในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารพิษต่างๆ มนุษย์ได้เรียนรู้การพัฒนาวัคซีนมานานแล้วจากความพยายามในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น การปลูกฝีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นต้น

แม้วัคซีน มีที่มาจากตัวของตัวจุลชีพเองหรือจากสารพิษ แต่ก็ได้มาผ่านกระบวนการทางการแพทย์ที่ทำให้จุลชีพหรือสารพิษเหล่านั้น ไม่คงฤทธิ์ต่อการเกิดโรคได้ หากแต่ยังมีความสามารถในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้

วัคซีนมี 4 ประเภท ได้แก่

1. วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine): เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรคที่ทำให้เชื้อโรคนั้นๆตายแล้ว เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนคอตีบ

2. วัคซีนเชื้อเป็น (Live attenuated Vaccine): เป็นวัคซีนที่ได้จากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิต แต่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลง จนไม่สามารถก่อโรคได้แล้ว หากแต่ยังมีความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันร่างกายได้อยู่ เช่น วัคซีนไวรัสโรต้า วัคซีนโปลิโอ

3. วัคซีนซับยูนิต (Subunit Vaccine): เป็นวัคซีนที่ได้จากบางชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสหรือของแบคทีเรียที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันได้ ซึ่งวัคซีนชนิดนี้ เป็นวัคซีนที่มีความจำเพาะต่อโรคสูง เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ บี

4. วัคซีนทอกซอยด์ (Toxoid): เป็นวัคซีนที่ผลิตได้จากสารพิษที่เชื้อโรคสร้างขึ้น เช่น วัคซีนบาดทะยัก

เมื่อกล่าวถึงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันนั้น กลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็ก จึงมีการกำหนดแผนการให้บริการวัคซีน หรือ “ตารางการรับวัคซีน/ตารางวัคซีน/ตารางการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน(Immunization schedules)” ของกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่าง และของประเทศไทย(ทั้งนี้ แต่ละประเทศจะมีตารางวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขแตกต่างกันตามลักษณะของโรคต่างๆของแต่ละประเทศนั้นๆ) และยังมีตารางวัคซีนที่แนะนำโดยสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยอีกด้วย อย่างไรก็ดี ในวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ สตรี รวมถึงวัยชรา/ผู้สูงอายุนั้น ในกลุ่มคนบางกลุ่มอาจมีความจำเป็นที่ต้องได้รับวัคซีนด้วย ตารางวัคซีนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กๆ เท่านั้นที่ควรทราบ

บทความนี้จึงได้ทำการรวบรวมตารางการรับวัคซีนที่แนะนำสำหรับกลุ่มบุคคลแต่ละช่วงวัย หากมีข้อสงสัยในเรื่องของการรับวัคซีนชนิดต่างๆ สามารถสอบถามได้จาก แพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล ใกล้บ้านของท่าน หรือจากสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ก็ได้

อนึ่ง สามารถอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดของแต่ละวัคซีนได้ในเว็บ haamor.com เช่น ในเรื่องตารางการให้วัคซีนที่รวมถึงตารางการฉีดกระตุ้น วิธีให้วัคซีน ผลข้างเคียงของวัคซีนนั้นๆ เป็นต้น เช่น วัคซีนหัด วัคซีนหัดเยอรมัน วัคซีนคางทูม

วัคซีนที่แนะนำและตารางการรับวัคซีนของเด็ก (วัยแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี)

ตารางการรับวัคซีน

การให้วัคซีนแก่เด็ก มีความสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ การให้วัคซีนในเด็กมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคติดเชื้อที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง และลดอัตราการเสียชีวิตของเด็ก

สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้กำหนดแนวทางและสนับสนุนการให้วัคซีนแก่เด็กไทย จำนวน 8 ชนิด เพื่อป้องกัน 10 โรค อันได้แก่

  • วัคซีนวัณโรค/วัคซีนบีซีจี
  • วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
  • วัคซีนคอตีบ
  • วัคซีนไอกรน
  • วัคซีนบาดทะยัก
  • วัคซีนโปลิโอ
  • วัคซีนหัด
  • วัคซีนหัดเยอรมัน
  • วัคซีนคางทูม และ
  • วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี

ซึ่งเด็กไทยจะได้รับบริการวัคซีนเหล่านี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้วัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดแล้วนั้น สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC/ United State Centers of Disease Control and Prevention) ยังมีข้อแนะนำการให้วัคซีนแก่เด็กเล็ก(เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี)ในสหรัฐอเมริกาด้วย ดังตารางที่1: ตารางวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี

ตารางที่ 1 ตารางวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี

หมายเหตุ:

/สีชมพู: คือวัคซีนที่อยู่ในแผนการให้บริการแก่เด็กของกระทรวงสาธารณสุขไทย และวัคซีนที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้แก่เด็กไทยทุกคน

/สีม่วง: คือวัคซีนที่ได้รับการแนะนำเป็นวัคซีนเสริมของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย หรือเป็นวัคซีนแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ ประเทศสหรัฐอเมริกา

คำอธิบายตัวย่อของชื่อวัคซีนในตารางที่1:

1. BCG (Bacillus Calmette-Guérin vaccine ): วัคซีนป้องกันวัณโรค

2. HBV (Hapetitis B Vaccine: วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี

3. DTP (Diptheria, Tetanus, Pertussis Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน

4. DTaP: วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดไร้เซลล์

5. DTwP: วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ชนิดทั้งเซลล์

6. OPV (Oral Polio Vaccine) : วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน

7. IPV (Inactivated Polio Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด

8. MMR หรือ MMRV(Mump, Measle, Rubella Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคคางทูม-หัด-หัดเยอรมัน

9. JE vaccine (Japanese Encephalitis Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี

10. Hib/HIB/HiB (Hib vaccine protects against Haemophilus influenzae type b): วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อสมองอักเสบฮิบ

11. HAV (Hepatitis A Vaccine): วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ เอ

12. VZV (Varicella vaccine) : วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

13. Influenza (Influenza Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

14. PCV (Pneumococcal conjugate vaccine): วัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอกคัสชนิดคอนจูเกต

15. Rota (Rotavirus vaccine): วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา

16. HPV (Human papilloma virus vaccine): วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี

17. V: คือ Vaccine

วัคซีนที่แนะนำและตารางการรับวัคซีนของเด็กช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่นและวัยรุ่น (อายุ7-18 ปี)

กลุ่มคนในช่วงวัยก่อนวัยรุ่นรวมถึงวัยรุ่นเองนั้น เป็นกลุ่มที่ยังคงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อชนิดต่างๆ แม้ร่างกายได้มีการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายได้ในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดี คนกลุ่มวัยนี้ ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับวัคซีนบางชนิด หรือพิจารณาเข้ารับวัคซีนบางชนิด ที่ตนอาจมีความเสี่ยง ผู้ที่มีอายุในช่วงนี้ กระทรวงสาธารณสุขไทยยังมีแผนการให้บริการวัคซีนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในบางรายการ รวมถึงยังมีวัคซีนบางชนิดที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) แนะนำ ได้แก่

ตารางที่ 2: ตารางวัคซีนสำหรับเด็กอายุก่อนเข้าสู่วัยรุ่นและวัยรุ่น (อายุ7-18 ปี)

หมายเหตุ:

/สีชมพู: คือวัคซีนที่อยู่ในแผนการให้บริการแก่เด็กของกระทรวงสาธารณสุข และวัคซีนที่สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยแนะนำให้แก่เด็กไทยทุกคน

/สีม่วง: คือวัคซีนที่ได้รับการแนะนำเป็นวัคซีนเสริมของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย หรือเป็นวัคซีนแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อ ประเทศสหรัฐอเมริกา

คำอธิบายตัวย่อของชื่อวัคซีนในตารางที่ 2

1. MMR หรือ MMRV (Mump, Measle, Rubella Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม

2. Influenza (Influenza Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

3. Td (Tetanus and Diptheria Vaccine): วัคซีนป้องกระตุ้นภูมิโรคคอตีบ และโรคบาดทะยัก

4. Tdap (Tetanus, Diptheria, Pertussis Vaccine): วัคซีนกระตุ้นภูมิ โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก โรคไอกรน

5. HPV (Human papilloma virus vaccine): วัคซีนเอชพีวี

6. Meningococcal (Meningococcal Vaccine): วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น

7. V: คือ Vaccine

วัคซีนที่แนะนำและตารางการรับวัคซีนผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ (อายุ19 ปี ขึ้นไป)

คำแนะนำวัคซีนสำหรับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกับเด็กและวัยรุ่นอยู่มาก วัยผู้ใหญ่เป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ การเข้ารับวัคซีนในช่วงนี้ จึงขึ้นอยู่กับสถานะและภาวะของผู้ป่วยแต่ละบุคคล อาทิ ประวัติการเข้ารับวัคซีนในช่วงวัยเด็ก ประวัติด้านสุขภาพ/ประวัติทางการแพทย์ ความเจ็บป่วยต่างๆ รูปแบบการใช้ชีวิต ลักษณะของอาชีพและการทำงาน หรือการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นต้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อประเทศสหรัฐ อเมริกา (U.S. CDC) ได้มีคำแนะนำการใช้วัคซีนสำหรับผู้ใหญ่ดังนี้

วัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่แบ่งตามช่วงอายุ

วัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่แบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่

ตารางที่ 3 วัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนและในบางข้อบ่งใช้ ที่มีอายุตั้งแต่ 19 ปี ขึ้นไป

หมายเหตุ:

/สีเหลือง: คือวัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่ทุกคนในช่วงวัยต่างๆดังในตาราง หรือในกลุ่มบุคคลทีไม่มีประวัติการเคยเข้ารับวัคซีนนั้นๆมาก่อน

/สีเขียว: คือวัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่างๆ อาทิ ประวัติสัมผ้สโรค ลักษณะของอาชีพ รูปแบบการใช้ชีวิต หรือข้อบ่งใช้อื่นๆตามดุลพินิจของแพทย์

วัคซีนผู้ใหญ่ที่แนะนำให้แก่ผู้ป่วยผู้ใหญ่เฉพาะโรคหรือบุคคลเฉพาะกลุ่ม:

ผู้ป่วยบางโรคมีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีนในการป้องกันโรคต่างๆ เนื่องจากโรคบางโรคมีเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยที่ไม่มีม้าม ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี รวมไปถึงบุคคลบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคติดต่อ เช่น ผู้ชายที่มีคู่นอนกับผู้ชาย หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำวัคซีนสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือบุคคลเฉพาะกลุ่ม ดังในตารางที่ 4 ดังต่อไปนี้

ตารางที่ 4 วัคซีนทีแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ในผู้ป่วยเฉพาะโรคหรือบุคคลเฉพาะกลุ่ม

คำอธิบายวัคซีนในตารางที่ 3 และ 4

1. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine): ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) แนะนำให้ผู้ใหญ่ทุกคนควรเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ รวมไปถึงหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถใช้ในรูปแบบวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated) ได้ กระทรวงสาธารณสุขของไทยสนับสนุนวัคซีนนี้แก่ประชาชนเช่นกัน

2. วัคซีนโรค บาดทะยัก และคอตีบ (Td; Tetanus and Diptheria Vaccine) และโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap; Tetanus, Diptheria, Pertussis Vaccine): วัคซีนชนิดนี้ เป็นวัคซีนที่อยู่ในแผนการให้วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขแก่เด็กไทย อย่างไรก็ดี ผู้ใหญ่ควรได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มโรค คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ทุกๆ 10 ปี โดยในครั้งแรก ควรได้รับชนิด Tdap ซึ่งครอบคลุมทั้ง 3 โรค (คอตีบ บาดทะยัก และไอกรน) หลังจากนั้น สามารถให้วัคซีนชนิด Td ในช่วงทุกๆ 10 ปี ต่อไป ซึ่งจะครอบคลุม 2 โรค คือโรคคอตีบและโรคบาดทะยัก

3. วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella Vaccine): วัคซีนชนิดนี้เหมาะสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่มีประวัติการได้รับ หรือที่มีภูมิคุ้มกันโรคอีสุกอีมาก่อน สามารถจำแนกอย่างคร่าวๆ ถึงผู้มีประวัติการมีหรือได้รับภูมิคุ้มกันโรคอีสุอีใส ได้แก่

  • เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้มาก่อน
  • เคยเป็นโรคอีสุกอีใสโดยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์มาก่อน
  • เคยเป็นโรคงูสวัดโดยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์มาก่อน
  • ได้รับการตรวจจากห้องปฏิบัติการว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้

4. วัคซีนเอชพีวี (HPV; Human papillomavirus): เป็นวัคซีนที่ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูก แนะนำสำหรับผู้หญิงอายุ 11 หรือ 12 ปี โดยฉีด 3 ครั้ง หากไม่ได้ฉีดในช่วงอายุดังกล่าว สามารถรับวัคซีนได้จนถึงอายุ 26 ปี สำหรับผู้ชาย วัคซีนนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหูดหงอนไก่ที่บริเวณอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งอวัยวะเพศชาย โดยฉีด 3 ครั้ง ในช่วงอายุ 11 หรือ 12 ปี หรือผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 13-21 ปี หากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน สำหรับผู้ชายที่มีคู่นอนเป็นผู้ชาย สามารถให้รับวัคซีนนี้ได้จนถึงอายุ 26 ปี

5. Zoster คือ วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Zoster Vaccine)

6. MMR คือ วัคซีนป้องกัน โรคคางทูม-โรคหัด-โรคหัดเยอรมัน (MMR; Mump vaccine , Measle vaccine , Rubella Vaccine)

7. วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอกคัส (Pneumococcal Vaccine; PCV13, PPSV23): ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป รับวัคซีนชนิดนี้ โดยรับวัคซีนชนิด PCV13 ก่อน หลังจากนั้น 1 ปี จึงให้ PPSV23

8. วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A Vaccine): แนะนำสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่ต้องการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ อาทิ ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ผู้ที่มีประวัติการใช้สาร/ยาเสพติด ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง ผู้ที่จะเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ หรือผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

9. วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบชนิดบี (Hepatitis B Vaccine): แนะนำสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่ต้องการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี อาทิ ผู้ที่มีคู่นอนหลายคน (มากกว่า 1 คน ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา), ผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ผู้ที่มีประวัติการใช้ยาเสพติดชนิดฉีด, ผู้ชายที่มีคู่นอนเป็นผู้ชาย, บุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสสัมผัสกับเลือด รวมไปถึงผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้

10. วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Vaccine) มี 3 ชนิด คือ วัคซีน MenACWY, วัคซีน MPSV4 ซึ่งครอบคลุมโรคนี้จากเชื้อสายพันธุ์ย่อย A, C, W, Y, และวัคซีน MenB ซึ่งครอบคลุมเชื้อฯสายพันธุ์ย่อย B การใช้วัคซีนขึ้นอยู่กับสภาวะของผู้ป่วย อายุ ประวัติการเจ็บป่วย การเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาด หรือเกิดการระบาดของเชื้อ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาให้วัคซีนเป็นกรณีๆไป โดยอาจให้ทั้ง 2 ชนิดที่ครอบคลุมเชื้อทุกสายพันธุ์ เช่น MenACWY พร้อมกับ MenB ก็ได้ แต่ฉีดเข้าคนละบริเวณของร่างกาย

11. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟิลุส อินฟลูอินซา ชนิดบี หรือ วัคซีนฮิบ (Hemophilus influenza Type B Vaccine or Hib/HIB/HiB vaccine): ให้ในผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคนี้ เช่น ไม่มีม้ามหรือได้รับการผ่าตัดม้ามออก เป็นโรคเลือดชนิดมีเม็ดเลือดแดงเป็นรูปเคียว(ปกติเม็ดเลือดแดงจะมีรูปร่างค่อนข้างกลม) หรือ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก

วัคซีนสำหรับสตรีตั้งครรภ์

การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่สตรีตั้งครรภ์/สตรีมีครรภ์ มีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันการติดเชื้อทั้งแก่มารดาเอง และแก่ทารกในครรภ์ การวางแผนครอบครัว และการพบสูตินรีแพทย์แต่เนิ่นๆ จึงมีความสำคัญที่จะช่วยให้มารดาและทารกที่จะเกิดขึ้นมา มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

ดังที่กล่าวไปแล้วในบทนำข้างต้นว่า วัคซีนมีหลายชนิด โดยหลักการทั่วไปแล้ว วัคซีนเชื้อเป็น (Live Vaccine) ไม่ควรให้ก่อนการตั้งครรภ์ 1 เดือน และรวมถึงในขณะตั้งครรภ์ด้วย ส่วนวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) อาจให้ก่อนหรือในขณะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งการจะใช้วัคซีนในสตรีตั้งครรภ ควรต้องปรึกษาสูตินรีแพทย์อย่างใกล้ชิด

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำวัคซีนแก่สตรีตั้งครรภ์ได้แก่

วัคซีนที่แนะนำช่วงก่อนตั้งครรภ์

วัคซีนที่สตรีควรได้รับหรือสตรีควรมีภูมิคุ้มกันในช่วงก่อนการตั้งครรภ์ คือ

  • วัคซีนป้องกัน โรคหัด โรคหัดเยอรมัน และโรคคางทูม (MMR) โดย โรคหัดเยอรมัน (Rubella) จะส่งผลอันตรายแก่ทารกในครรภ์ โดยทารกที่เกิดมาจะมีความผิดปกติ(เช่น โรคหัวใจ) แม้ว่ามารดาอาจได้รับวัคซีนนี้แล้วแต่ครั้งในวัยเด็ก อย่างไรก็ดี มารดาควรตรวจระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อโรคเหล่านี้ด้วย(ซึ่งหากมีภูมิคุ้มกันฯแล้ว แพทย์อาจแนะนำ ไม่จำเป็นต้อฉีดวัคซีนเหล่านี้) หากจำเป็นต้องได้รับวัคซีนชนิดนี้ ควรหลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์เป็นเวลา 1 เดือน ภายหลังการรับวัคซีนกลุ่มนี้

วัคซีนที่แนะนำช่วงระหว่างตั้งครรภ์

โดยทั่วไประหว่างการตั้งครรภ์ มีวัคซีนที่ได้รับการแนะนำให้บริหาร/ให้มารดาได้รับมี 2 ชนิด คือ

  • วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) และ
  • วัคซีนป้องกัน โรคบาดทะยัก โรคคอตีบ โรคไอกรน (Tdap)

นอกจากวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ควรได้รับในทุกๆ ปีแล้วนั้น สตรีตั้ง ครรภ์ควรได้รับวัคซีนป้องกัน โรคบาดทะยัก โรคคอตีบ และโรคไอกรน (Tdap) ในทุกๆครั้งที่มีการตั้งครรภ์ด้วย โดยให้วัคซีนในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 27-36 ของการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคไอกรน (Pertusis หรือ Whooping Cough) แก่ทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์จนถึงแก่ชีวิตได้

วัคซีนที่แนะนำมารดาภายหลังให้กำเนิดทารก

สำหรับมารดาที่ไม่เคยได้รับวัคซีน Tdap ควรรับวัคซีนดังกล่าวทันทีภายหลังการให้กำเนิดบุตร และในมารดาที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อ โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน รวมไปถึงโรคอีสุกอีใส (Chickenpox) ควรได้รับวัคซีน MMR และวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella Vaccine) หลังคลอด ก่อนออกจากโรงพยาบาล

วัคซีนอื่นๆที่อาจพิจารณาให้แก่สตรีตั้งครรภ์หากมีข้อบ่งใช้

วัคซีนอื่นๆที่แพทย์อาจพิจารณาให้แก่สตรีตั้งครรภ์หากมีข้อบ่งใช้ ดังในตารางที่ 5

คำอธิบายวัคซีนในตารางที่ 5:

1. วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ชนิด A (Hepatitis A Vaccine): ขึ้นกับวิจารณญาณของแพทย์หากมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง หรือมารดามีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอ

2. วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบB (Hepatitis B Vaccine): แพทย์อาจพิจารณาให้วัคซีนนี้ หากมารดามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี เช่น มีคู่นอนมากกว่า 1 คน ในรอบ 6 เดือน, ได้รับการวินิจฉัยหรือกำลังทำการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, สามีหรือคู่นอนเป็นพาหะของโรคนี้ เป็นต้น

3. วัคซีนเอชพีวี (HPV; Human papillomavirus): ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้แก่สตรีขณะกำลังตั้งครรภ์ หากมารดากำลังอยู่ในระหว่างการรับวัคซีนชนิดนี้(ซึ่งต้องได้รับทั้งหมดรวม 3 ครั้ง) จำเป็นต้องเลื่อนการให้วัคซีนชนิดนี้ออกไปจนกว่าจะคลอดบุตร

4. วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Vaccine): ให้ได้หากมีข้อบ่งใช้ตามวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษาผู้ป่วย

5. วัคซีนป้องกันโรคนิวโมคอกคัส (Pneumococcal Vaccine): ให้ได้หากมีข้อบ่งใช้ตามวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการศึกษาด้านความปลอดภัยของวัคซีนนี้ในสตรีตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

วัคซีนที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย

ประเทศไทยมีการจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมระบบยาของประเทศ ให้มียาที่จำเป็นใช้ในสถานพยาบาลอย่างเพียงพอและเหมาะสม มีข้อบ่งใช้และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ยามีประสิทธิผลในการรักษาโรค

ประชาชนชาวไทยมีสิทธิในการเข้ารับการรักษาและเข้ารับวัคซีนตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีสิทธิที่จะได้รับวัคซีนตามที่แพทย์สั่งจ่ายในกรอบบัญชียาหลักแห่งชาติ

วัคซีนเป็นยาชีววัตถุที่มีความสำคัญ และวัคซีนบางชนิดได้รับการจัดให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย ทั้งนี้ วัคซีนบางชนิด ต้องได้รับการสั่งใช้โดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีวัคซีนในบัญชียาหลักแห่งชาติ 22 ชนิด ได้แก่

*หมายเหตุ: Anti-D Immunoglobulin(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง Immunoglobulin therapy) ใช้ในการป้องกันการสร้างภูมิคุ้มกันต่อ Rh(D) ในหญิงที่มีหมู่เลือด Rh-negative หรือป้องกันการส่งผ่านภูมิคุ้มกันของแม่ซึ่งเป็น Rh-positive ไปยังทารกในครรภ์ที่มีหมู่เลือด Rh-negative

บรรณานุกรม

  1. สันต์ ใจยอดศิลป์. วัคซีนในผู้ใหญ่ (Adult Vaccination). 2013. http://visitdrsant.blogspot.com/2013/05/adult-vaccination.html [2021,Jan30]
  2. ตารางการให้วัคซีนในเด็กไทยปกติ. สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย. https://www.pidst.net/A478.html [2021,Jan30]
  3. เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ วัคซีนไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal vaccine). บลอคคลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน https://www.thaitravelclinic.com/blog/th/travel-medicine-issue/thai-meningococcal-vaccine.html [2021,Jan30]
  4. วิทยา ภิฐาพันธุ์. วัคซีนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1070 [2021,Jan30]
  5. หน่วยของ Anti-D ทำไมแตกต่างกัน. ศิริราชเภสัชสาร. ปีที่ 14 ฉบับที่ 4 เดือนมกราคม 2558
  6. https://www.cdc.gov/vaccines/pregnancy/hcp-toolkit/guidelines.html?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fvaccines%2Fpregnancy%2Fhcp%2Fguidelines.html [2021,Jan30]
  7. https://www.cdc.gov/vaccines/schedules/hcp/imz/child-adolescent.html?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fvaccines%2Fschedules%2Feasy-to-read%2Fchild.html [2021,Jan30]
  8. https://www.cdc.gov/vaccines/schedules/easy-to-read/adolescent-easyread.html?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fvaccines%2Fschedules%2Feasy-to-read%2Fpreteen-teen.html [2021,Jan30]
  9. https://www.cdc.gov/vaccines/parents/diseases/mening.html?CDC_AA_refVal=https%3A%2F%2Fwww.cdc.gov%2Fvaccines%2Fparents%2Fdiseases%2Fteen%2Fmening.html [2021,Jan30]
  10. https://www.cdc.gov/vaccines/schedules/hcp/imz/adult.html [2021,Jan30]
  11. https://www.cdc.gov/vaccines/schedules/downloads/adult/adult-combined-schedule.pdf [2021,Jan30]