โรคตับแข็ง (Liver cirrhosis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคตับแข็ง(Liver cirrhosis) คือโรคที่เซลล์ปกติของตับกลายเป็นพังพืดจนทำให้เนื้อเยื่อตับมีลักษณะแข็ง เกิดเป็นก้อนตะปุ่มตะปั่ม(ปุ่มขรุขระ)จากพังผืดทั่วตับ ขนาดตับจะค่อยๆเล็กลง และทำงานได้ลดน้อยลงต่อเนื่อง จนเกิดตับวาย และเป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้เซลล์ตับกลับมาเป็นปกติได้

ตับแข็ง เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง โอกาสเกิดในผู้หญิงและในผู้ชายใกล้เคียงกัน เป็นโรคพบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไป เป็นโรคของผู้ใหญ่

ตับแข็ง จัดเป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งค่อนข้างรุนแรง โดยในสหรัฐอเมริกา เป็นสาเหตุการเสียชีวิตสูงเป็นลำดับที่ 12 ในผู้หญิง และเป็นลำดับที่ 10 ในผู้ชาย ส่วนสถิติทั่วโลกพบตับแข็งเป็นลำดับที่ 14 ของสาเหตุการเสียชีวิต

อนึ่ง: ตับ(Liver) เป็นอวัยวะสำคัญอวัยวะหนึ่ง มีหน้าที่หลายๆอย่าง ซึ่งเมื่อเกิดเป็นโรคตับแข็ง การทำงานของตับจะลดลง จึงก่อให้เกิดอาการต่างๆขึ้น

หน้าที่ของตับที่สำคัญ คือ

  • ช่วยการสร้างโปรตีนในร่างกาย
  • กำจัดของเสียออกจากร่างกาย เช่น กำจัดส่วนเกินของยา หรือ ทำลายพิษของยา
  • สร้างน้ำย่อยอาหารเพื่อการดูดซึมไขมัน(น้ำดี)
  • ช่วยสร้างสารภูมิต้านทาน
  • ช่วยสร้างสารเพื่อการแข็งตัวของเลือด และ
  • เป็นแหล่งสะสมน้ำตาลให้ร่างกายเพื่อนำมาใช้เมื่อน้ำตาลในเลือดต่ำ

โรคตับแข็งเกิดได้อย่างไร?

ตับแข็ง

โรคตับแข็ง เกิดจากการที่เนื้อเยื่อตับบาดเจ็บและถูกทำลายจากการอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เนื้อเยื่อตับจึงกลายเป็นพังผืด จนทำให้ตับสูญเสียการทำงาน

โดยเมื่อเริ่มเกิดโรค ตับจะมีขนาดปกติ แต่ต่อมาเมื่อการอักเสบมีมากขึ้นจึงเกิดการบวมของเนื้อเยื่อตับ จึงเกิดตับโตจนคลำได้(ปกติ จะคลำตับไม่ได้ เพราะอยู่ใต้ชายโครง)

แต่เมื่อการอักเสบเรื้อรัง จนเนื้อเยื่อตับเป็นพังผืดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื้อเยื่อตับจึงมีลักษณะแข็งขึ้น(เป็นที่มาของคำว่า โรคตับแข็ง) และขนาดของตับจะหดเล็กลงเรื่อยๆ

นอกจากนั้น เนื้อเยื่อตับที่เหลืออยู่ จะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จึงเกิดเป็นปุ่มก้อนเนื้อขึ้น เมื่อร่วมกับการเกิดพังผืด จึงก่อให้ตับแข็งมีลักษณะเป็นตะปุ่มตะป่ำทั่วทั้งตับ

โรคตับแข็งมีสาเหตุจากอะไร ?

สาเหตุ หรือ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับแข็ง มีได้มากมาย แต่ที่พบบ่อย คือ

  • จากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดย 60-70% ของตับแข็งเกิดจากสาเหตุนี้
  • จากโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (เป็นสาเหตุประมาณ 10%)
  • จากภาวะร่างกายมีเกลือแร่(ธาตุ)เหล็กสูง เหล็กจึงไปสะสมในตับ ส่งผลให้เกิดตับแข็ง เช่น ในโรคธาลัสซีเมีย (เป็นสาเหตุประมาณ 5-10%)
  • จากโรคต่างๆของท่อน้ำดี(เป็นสาเหตุประมาณ 10%) เช่น ท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรังจากโรคภูมิแพ้ตนเอง(ภูมิต้านตนเอง) หรือ ท่อน้ำน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด
  • จากโรค หรือ ภาวะอื่นๆ รวมกันประมาณ 5% เช่น
    • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง หรือ ยารักษาวัณโรค หรือ วิตามินเอเสริมอาหารปริมาณสูง
    • จากโรคภูมิแพ้ตนเอง/โรคออโตอิมมูน
    • จากโรคไขมันพอกตับ(มักพบในคนอ้วน)
    • จากตับติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อพยาธิใบไม้เลือด และ
    • จากโรคหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง

โรคตับแข็งมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบบ่อยในโรคตับแข็ง คือ ไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค ต่อเมื่อเป็นมากแล้วจึงมีอาการ ซึ่งอาการที่พบบ่อย เช่น

  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร ผอมลง
  • คลื่นไส้เรื้อรัง
  • อาจมีเส้นเลือดฝอย/หลอดเลือดฝอยเกิดมากผิดปกติตามตัว และในฝ่ามือ (เห็นลักษณะเป็นหลอดเลือดแดงเล็กๆยาวๆรวมกันเป็นกลุ่มคล้ายใยแมงมุม กระจายทั่วไป)
  • อาจมีตัว/ตาเหลือง(ดีซ่าน)จากการคั่งของสารสีเหลือง(บิลิรูบิน/Bilirubin)ในร่างกาย ซึ่งสารนี้สร้างจากตับ (ภาวะตับปกติ ตับจะขับสารนี้ออกทางปัสสาวะ และน้ำดี/ทางอุจจาระ) และมีอาการคันตามตัว เพราะสารสีเหลืองจากตับก่อการระคายต่อผิวหนัง
  • หายใจมีกลิ่นจากสารของเสียที่สะสมในร่างกายเพราะตับกำจัดออกไม่ได้
  • ห้อเลือดง่าย เลือดออกแล้วหยุดยาก จากขาดสารช่วยการแข็งตัวของเลือดซึ่งสร้างจากตับ
  • ติดเชื้อต่างๆง่าย เพราะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดลงจากตับทำงานได้ลดลง
  • บวมใบหน้า มือ เท้า ท้อง เพราะโปรตีนในเลือดลดลงจากตับทำงานลดลง และจากความดันเลือดดำในตับสูงขึ้นจากการเกิดพังผืดของตับ จึงเกิดน้ำคั่งในท้อง/ท้องมาน
  • หลอดเลือดดำของอวัยวะต่างๆในท้องขยายตัวจากความดันเลือดดำในตับสูงขึ้น หลอดเลือดดำเหล่านี้จึงแตกได้ง่าย ที่สำคัญ คือ หลอดเลือดดำหลอดอาหาร ส่งผลให้อาเจียนเป็นเลือด
  • ม้ามโต จากมีเลือดคั่งเพราะความดันเลือดในตับสูงขึ้น นอกจากนั้น ม้ามจะทำลายเม็ดเลือดแดงได้สูงขึ้น จึงเกิดภาวะซีด
  • โรคไตวาย จากมีความดันเลือดในตับสูงขึ้น ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง
  • ระยะสุดท้ายของตับแข็ง เมื่อตับเสียการทำงานมากขึ้น จะเกิดภาวะตับวาย สารของเสียในร่างกาย/ในเลือดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลถึงสมอง เกิดภาวะมือสั่น สับสน และในที่สุดโคม่า

แพทย์วินิจฉัยโรคตับแข็งได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคตับแข็ง ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติดื่มสุรา การใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ
  • ตรวจภาพตับด้วยอัลตราซาวด์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์
  • แต่ที่ให้ผลแน่นอน คือ ตรวจชิ้นเนื้อจากตับ โดยการตรวจทางพยาธิวิทยา และ
  • อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ หรือ ผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากโรคตับแข็งทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทาน หรือ สารก่อภูมิต้านทานต่างๆ เมื่อสงสัยสาเหตุจากไวรัสตับอักเสบ หรือ โรคออโตอิมมูน
    • ตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคธาลัสซีเมีย
    • การส่องกล้องตรวจอวัยวะที่สงสัยเกิดหลอดเลือดดำขอด/หลอดเลือดดำขยายตัว เช่น ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร และ/หรือ กระเพาะอาหาร

รักษาโรคตับแข็งได้อย่างไร?

เมื่อเกิดโรคตับแข็งแล้ว จะไม่สามารถรักษาโรคให้หายได้ การรักษาจึงเพื่อ หยุด หรือ ชะลอการทำลายของเนื้อเยื่อตับ ซึ่งได้แก่

  • การรักษาสาเหตุ: เช่น รักษาโรคหัวใจเมื่อมีโรคหัวใจเป็นสาเหตุ
  • การเลิก หรือ หลีกเลี่ยงสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น เลิกดื่มสุรา และไม่ซื้อยากิน เอง
  • นอกจากนั้น คือ
    • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาขับน้ำ/ยาขับปัสสาวะเมื่อมีอาการบวม และ
    • การรักษาผลข้างเคียงต่างๆจากโรคตับแข็ง เช่น การรักษาอาการอาเจียนเป็นเลือด
  • สุดท้าย เมื่อตับทำงานได้ต่ำมาก การรักษา คือ ‘การปลูกถ่ายตับ’ ซึ่งมีข้อจำกัดมาก จากการขาดแคลนผู้บริจาคตับ และการปลูกถ่ายได้ผลเฉพาะในบางคนที่แข็งแรงไม่มีโรคประจำตัวเท่านั้น และจากค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ยังสูงมาก

มีผลข้างเคียงจากโรคตับแข็งไหม?

ผลข้างเคียงจากโรคตับแข็ง คือ คุณภาพชีวิตลดลงจากโรคและอาการต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น

  • ภาวะซีด ที่ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่าย
  • แน่นอึดอัดท้อง จากม้ามโต และ/หรือมีน้ำในท้อง(ท้องมาน)
  • หลอดเลือดดำขอด/หลอดเลือดดำขยายใหญ่ที่ส่วนปลายหลอดอาหาร ส่งผลให้เกิดอาเจียนเป็นเลือดจากหลอดเลือดฯแตก
  • ไตวาย

โรคตับแข็งรุนแรงไหม?

โรคตับแข็ง เป็นโรคเรื้อที่มีการพยากรณ์โรค/ความรุนแรงของโรครุนแรง เพราะเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต จากภาวะตับวาย และจากผลข้างเคียง เช่น ติดเชื้อรุนแรง อาเจียนเป็นเลือด มีอาการทางสมอง และไตวาย

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ดังกล่าวแล้วว่า เมื่อเริ่มเป็นตับแข็ง จะไม่มีอาการ ดังนั้นแพทย์สามารถตรวจพบโรคได้เมื่อเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี หรือ ควรตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในหัวข้อ’ปัจจัยเสี่ยงฯ’ นอกจากนั้น คือ รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’

ดูแลตนเองอย่างไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตับแข็ง ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบทุกวัน
  • หลีกเลี่ยง และเลิกปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี (วัคซีนตับอักเสบ บี)ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามแพทย์นัด และ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีเสลดปนเลือด หรือ อาเจียนเป็นเลือด
    • เมื่ออาการต่างๆเลวลง เช่น บวมเนื้อตัวมากขึ้น หรือ มีจ้ำห้อเลือดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น วิงเวียนศีรษะมาก, ขึ้นผื่นทั้งตัว
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคตับแข็งได้อย่างไร?

การป้องกันโรคตับแข็ง คือ การหลีกเลี่ยงสาเหตุที่หลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญ คือ

  • ไม่ดื่ม/เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ บี (วัคซีนตับอักเสบ บี , ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนไวรัสตับอักเสบ ซี)
  • หลีกเลี่ยง/ป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัสตับอักเสบ ซี (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไวรัสตับอักเสบ บี และเรื่อง ไวรัสตับอักเสบ ซี)
  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ และ
  • ไม่ซื้อยาต่างๆกินเอง อย่างน้อยควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J.(2001).Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York. McGraw – Hill.
  2. Cirrhosis .http://en.wikipedia.org/wiki/Cirrhosis [2011, June1].
  3. Heidelbaugh, J., and Bruderly, M. (2006). Cirrhosis and chronic liver failure: part I. Diagnosis and evaluation. Am Fam physician, 74, 756-762.
  4. Heidelbaugh, J., and Sherbondy, M. (2006). Cirrhosis and chronic liver failure: part II. Complications and treatment. Am Fam Physician, 74, 767-776.
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Cirrhosis [2019,Jan9]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/185856-overview#showall [2019,Jan9]