ตับวาย ตับล้มเหลว (Liver failure)

สารบัญ

บทนำ

ตับวาย หรือ ตับล้มเหลว (Liver failure) เป็นภาวะที่เกิดจาก ตับสูญเสียการทำงาน จนส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น ที่สำคัญ คือ อาการทางสมอง อาการเลือดออกง่าย ตัวตาเหลือง (โรคดีซ่าน) มีน้ำในท้อง และการติดเชื้อรุนแรงของร่างกาย

ตับ (Liver หรือ Hepar/ภาษากรีก) เป็นอวัยวะสำคัญมากอวัยวะหนึ่งของร่างกาย มีหน้า ที่หลายอย่าง ที่สำคัญ เช่น ทำลายและกำจัดสารพิษและของเสียต่างๆ โดยนำออกจากร่างกายทางน้ำดี ช่วยสร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือด ช่วยสร้างฮอร์โมนบางชนิด เป็นแหล่งสะสมน้ำ ตาลของร่างกาย ช่วยควบคุมความดันเลือดในช่องท้อง และช่วยสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรค

ตับวายเป็นภาวะที่พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยมากในคนทุกอายุ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ และเกิดได้ทั้งสองเพศ โดยเพศหญิงและเพศชายพบได้ใกล้เคียงกัน

ภาวะตับวายแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะตามธรรมชาติและตามความรุนแรงของโรค คือ ตับวายเฉียบพลัน และตับวายเรื้อรัง

  • ตับวายเฉียบพลัน (Acute liver failure) หรือ บางท่านนิยมเรียกว่า ตับวายเร็วร้าย (Fulminant hepatic failure ย่อว่า FHF) หมายถึงตับวายที่เกิดอย่างรวดเร็วรุนแรง โดยมีอา การทางสมองเกิดตามหลังอาการผิดปกติที่เป็นอาการนำ เช่น คลื่นไส้ ไม่เกิน 26 สัปดาห์ และอาจแบ่งได้เป็น
    • ถ้าเกิดอาการทางสมองภายในระยะเวลาไม่เกิน 8 สัปดาห์ เรียกว่า ตับวายเร็วร้าย (FHF)
    • แต่ถ้าอาการทางสมองเกิดหลัง 8 สัปดาห์ไปจนถึงไม่เกิน 26 สัปดาห์ เรียกว่า ตับวายกึ่งเร็วร้าย (Sub acute FHF) ทั้งนี้ภาวะตับวายเฉียบพลัน มักเกิดโดยผู้ป่วยไม่เคยมีโรคตับมาก่อน กล่าวคือ ตับทำงานปกติก่อนเกิดภาวะตับวายเฉียบพลัน
  • ตับวายเรื้อรัง (Chronic liver failure) คือ มีอาการทางสมองที่เกิดจากตับวาย โดยเกิดหลังมีอาการนำ เช่น คลื่นไส้ นานเกิน 6 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้มัก เกิดตามหลังจากมีโรคตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ เช่น การดื่มสุรา หรือจากโรคไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น ตับวายเฉียบพลันและตับวายเรื้อรัง จะมีสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาเช่นเดียวกัน ต่างกันที่ระยะเวลาเกิด และความรุนแรงของอาการ ที่ระยะเฉียบพลันอาการจะเกิดรวดเร็วและรุนแรง โดยบางสาเหตุ อาการตับวายเฉียบพลันอาจเกิดได้ภายใน 48 ชั่วโมง เช่น การกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) เกินขนาด เป็นต้น
 

ตับวายเกิดได้อย่างไร? มีสาเหตุจากอะไร?

ตับวาย

ตับวาย เกิดจากการที่เซลล์ตับได้รับบาดเจ็บเสียหายอย่างรุนแรงจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยสาเหตุที่ทำให้เซลล์ตับบาดเจ็บเสียหาย มีได้หลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคตับแข็ง
  • พิษของสุรา
  • ตับติดเชื่อ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบ
  • จากพิษในอาหาร เช่น ในเห็ดบางชนิด หรือสมุนไพรบางชนิด
  • จากร่างกายได้รับพิษของโลหะหนัก จากการปนเปื้อนในน้ำดื่ม หรือในอาหาร เช่น ตะกั่ว และทองแดง
  • จากพิษของยา ที่พบได้บ่อย คือ กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) เกินขนาด หรือการแพ้ยาแอสไพริน ในเด็กที่มีไข้จากการติดเชื้อไวรัส เช่น ในโรคหัด
  • ใช้ยาเสพติดเกินขนาด เช่น โคเคน
  • จากโรคมะเร็งตับ หรือโรคมะเร็งชนิดต่างๆที่แพร่กระจายมาตับ
  • จากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองระยะรุนแรง
  • ประมาณ 10-15% ของผู้ป่วย แพทย์หาสาเหตุไม่ได้
 

ตับวายมีอาการอย่างไร?

อาการตับวายในระยะแรก คือ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้องโดย เฉพาะด้านขวาตอนบน (ตำแหน่งของตับ) ตัวตาเหลือง (ดีซาน)

เมื่อโรครุนแรงขึ้น อาการที่ตามมา คือ

  • มีน้ำในท้อง จากมีความดันสูงในระบบไหลเวียนโลหิตของช่องท้อง ส่งผลให้เกิดมีน้ำซึมจากหลอดเลือดของช่องท้องเข้าสู่ในช่องท้อง
  • เลือดออกง่าย (มีจ้ำห้อเลือด หรือจุดแดงเล็กๆคล้ายในไข้เลือดออกตามตัว) เพราะตับไม่สามารถสร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือดได้
  • มีอาการทางสมอง จากสารพิษที่คั่งในร่างกายทำลายเซลล์สมองโดยตรง และ/หรือเกิดจากภาวะสมองบวม โดยอาการมักเริ่มจาก นอนไม่หลับ หลงลืมง่าย ตัด สินใจไม่ได้ กระสับกระส่าย สับสน ต่อจากนั้น จะซึมลง โดยเฉพาะช่วงกลางวัน แต่ตื่นกลางคืน สั่น กระตุก อาจชัก
  • มีอาการของ ไตวายเฉียบพลัน โดยไม่เคยมีโรคไตมาก่อนจากไตขาดเลือด สา เหตุจากความดันในระบบไหลเวียนโลหิตของช่องท้องสูงขึ้น เช่น บวมทั้งตัว โดย เฉพาะขาและเท้า ปัสสาวะน้อย หรือไม่มีปัสสาวะ สับสน ซึม ชัก และโคม่า
  • หมดสติ โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
 

แพทย์วินิจฉัยตับวายได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะตับวายได้จาก ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการใช้ยาต่างๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิต แหล่งที่อยู่อาศัย อาชีพการงาน อาหาร น้ำดื่ม สมุนไพร การตรวจร่างกาย การตรวจเลือด ดูการทำงานของตับและของไต ดูสารภูมิต้านทานของโรคต่างๆที่อาจเป็นสาเหตุ การตรวจภาพตับ เช่น จากอัลตราซาวด์ และบางครั้งอาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อจากตับเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

รักษาตับวายอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะตับวาย คือการพยายามกำจัดสารพิษออกจากร่างกายให้ได้โดยเร็ว ร่วมกับการพยายามลดปริมาณสารพิษที่จะเกิดขึ้นใหม่ให้ลดลง เช่น การจำกัดอาหารโปรตีนเพื่อลดสารไนโตรเจนที่เป็นสารปลายทางจากร่างกายใช้อาหารโปรตีน ซึ่งเป็นพิษต่อตับเป็นต้น

ดังนั้น การรักษา คือ การควบคุมอาหาร การรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย การป้องกันภาวะเลือดออก การป้องกันภาวะไตวาย และป้องกันการเกิดอาการทางสมองจากสารพิษ

ผู้ป่วยตับวาย จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล นอกจากนั้น การรักษาโดยการปลูกถ่ายตับจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตได้สูงขึ้น มีรายงานว่า ถ้าไม่ได้รับการปลูกถ่ายตับประมาณ 80% ของผู้ป่วยตับวายจะเสียชีวิต แต่ถ้าได้รับการปลูกถ่ายตับ โอกาสรอดชีวิตประมาณ 60%

ตับวายรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ตับวาย เป็นภาวะรุนแรง ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูง ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลให้เสียชีวิตสูง คือ

  • อาการ ถ้ามีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอาการรุนแรงทางสมอง และมีภาวะไตวาย
  • สาเหตุ เช่น สาเหตุจากกินยาแก้ปวดพาราเซตามอล (Paracetamol) โอกาสเสีย ชีวิตจะต่ำกว่าสาเหตุอื่น
  • มีความผิดปกติในระบบการแข็งตัวของเลือดรุนแรง เพราะจะเป็นสาเหตุให้มีเลือด ออกตามอวัยวะต่างๆอย่างรุนแรง
  • มีปริมาณสารที่ทำให้ตัวตาเหลือง (สาร Bilirubin) ในเลือดสูง
  • มีการติดเชื้อรุนแรงในร่างกาย
  • มีผลข้างเคียงจากภาวะตับวาย เช่น สมองบวม เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ การติดเชื้อ และไตวาย
  • อายุน้อยกว่า 10 ปี หรือ อายุมากกว่า 40 ปี

ทั้งนี้ ดังกล่าวแล้ว ผลข้างเคียงแทรกซ้อน เมื่อเกิดภาวะตับวาย คือ มีอาการทางสมอง มีน้ำในช่องท้อง เลือดออกตามอวัยวะต่าง การติดเชื้อรุนแรงของร่างกาย และภาวะไตวาย

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรกินอาหารอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง คือ การปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด และควรรีบพบแพทย์แต่เนิ่นๆตั้งแต่เริ่มมีอาการผิดปกติและรู้ตัวว่าอาจได้รับสารพิษ เช่น การกินยาเกินขนาด หรือกินสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

ป้องกันตับวายได้อย่างไร?

สามารถป้องกันภาวะตับวายได้โดยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อการเป็นพิษต่อตับที่สำคัญ คือ

  • กินยาทุกชนิดอย่างระมัดระวัง และเฉพาะเมื่อจำเป็น และต้องไม่กินยาเกินขนาด
  • ระมัดระวังเรื่องสารพิษในอาหาร (รวมทั้งสมุนไพร และเห็ดต่างๆที่ไม่รู้จัก) และในน้ำดื่ม
  • ระมัดระวังการสัมผัสสารคัดหลั่ง รวมทั้งเลือดของผู้อื่น (ปัจจัยเสี่ยงของโรคไวรัสตับอักเสบ)
  • ระมัดระวังการใช้สารเคมีทุกชนิด เช่น ยาฆ่าวัชพืช
  • จำกัดการดื่มสุรา ผู้ชายไม่ควรเกิน 2 ดริงค์ (Drink) ต่อวัน ผู้หญิงไม่ควรเกิน 1 ดริงค์ต่อวัน
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆ โดย เฉพาะเชื้อไวรัสตับอักเสบจากเพศสัมพันธ์ส่ำส่อน หรือจากการใช้ยาเสพติด
  • ปรึกษาแพทย์ เพื่อขอรับการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคไวรัสตับอักเสบ บี
 

บรรณานุกรม

  1. Acute liver failure http://emedicine.medscape.com/article/177354-overview# showall [2013,July18].
  2. Diet-liver disease http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002441.htm [2013,July18].
  3. Heidelbaugh, J., and Bruderly, M.(2006). Cirrhosis and chronic liver failure: part I. Diagnosis and evaluation. Am Fam Physician. 74, 756-762.
  4. Hepatic failure diet
  5. Krenitsky J. (2003). Nutrition for patients with hepatic failure. Practical gastroenterology http://www.medicine.virginia.edu/clinical/departments/medicine/divisions/digestive-health/nutrition-support-team/nutrition-articles/jun03krenitskyarticle.pdf [2013,July18].
  6. Liver failure http://en.wikipedia.org/wiki/Liver_failure [2013,July18].
  7. Riley III, T., and Bhatti, A. (2001). Preventive strategies in chronic liver disease: part II. Cirrhosis. Am Fam Physician. 64, 1735-1741.
  8. Sass, D., and Shakil, O. (2005). Fulminant hepatic failure. Liver Transplantation. 11, 594-605.
Updated 2013, July 18